แต่ละเดือน คนไทยเสียเงินกับอะไรบ้าง?

คนไทยมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ในเดือนพฤษภาคม

คนไทยในยุคที่อะไรก็แพงไปหมด ในแต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จ่ายเงินให้กับอะไรมากที่สุด  

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ในเดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และสูงขึ้นในรอบ 13 ปี

ปัจจัยหลักที่กระทบเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 คือ ราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ 7.10%

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือนพฤษภาคม 2565 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยรวมค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,927 บาท/เดือน จำแนกได้ดังนี้

  • ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,370 บาท
  • ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้า 3,950 บาท
  • เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 1,719 บาท
  • อาหารบริโภคในบ้าน เดลิเวอรี่ 1,577 บาท
  • อาหารบริโภคนอกบ้าน 1,211 บาท
  • ค่าแพทย์ ค่ายา และค่าบริการส่วนบุคคล 967 บาท
  • ผัก และผลไม้ 920 บาท
  • ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่างๆ 752 บาท
  • ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 651 บาท
  • เครื่องปรุงอาหาร 433 บาท
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 385 บาท
  • ไข่ และผลิตภัณฑ์นม 377 บาท
  • ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 375 บาท
  • ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า และค่าเบียร์ 239 บาท

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง