เทรนด์ลงทุน “หุ้นกู้”

THAILAND-STOCKS
Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP
คอลัมน์​ : บทบรรณาธิการ

กำลังเป็นเทรนด์ก็ว่าได้กับการออก “หุ้นกู้” ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดได้รับความนิยมอย่างมาก จนสามารถปิดยอดได้รวดเร็ว หุ้นกู้บางบริษัทมีผู้แสดงความจำนงต้องการซื้อมากเกินกว่าจำนวนหุ้นกู้ที่ออกมา สาเหตุหลักไม่พ้นหุ้นกู้ทั้งหมดให้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากธนาคารทั้งสิ้น จะมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เรตติ้ง หรือความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้แต่ละบริษัท ที่ออกมานำเสนอต่อประชาชน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2565มีหุ้นกู้ทยอยออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อล็อกต้นทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมขยับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ตรึงอยู่ 0.50% มายาวนาน เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อตัวเลขออกมาน่ากลัวไม่น้อย รวมถึงการแกว่งตัวของค่าเงินบาท และอีกส่วนเพื่อทยอยใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ

จากข้อมูลพบว่าในช่วงที่เหลือของปี 2565 หุ้นกู้ระยะยาวจะครบกำหนดประมาณ 3.2 แสนล้านบาท ปี 2566 มีอีก 6.2 แสนล้านบาท และปี 2567 อีกราว ๆ 7.1 แสนล้านบาท ตามปกติแล้วบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ส่วนใหญ่จะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำเงินที่ระดมได้มาใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด จนคาดว่าตลอดปี 2565 น่าจะมีหุ้นกู้ออกมาให้จับจองมูลค่าประมาณ 1.10-1.20 ล้านล้านบาท ถือเป็นปีที่ 2 ซึ่งหุ้นกู้ไทยมียอดเกิน 1 ล้านล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท

ส่วนประเภทหุ้นกู้หลัก ๆ ที่คุ้นชินไม่พ้นหุ้นกู้แบบมีกรอบเวลาชัดเจน กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คือจะชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียวเมื่อเลิกบริษัท หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอน โดยหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดเพื่อจูงใจ

หุ้นกู้แบบหลังอาจฟังดูน่ากังวลกว่านิดหน่อย เพราะจะได้เงินต้นคืนเมื่อเลิกกิจการ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ถือหุ้นกู้จะได้คืนเต็มจำนวน เพราะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธินั่นเอง ต้องต่อคิวรับเงินจากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ อีกทั้งบริษัทผู้ออกอาจเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้ แต่มีเงื่อนไขที่มัดไว้มากพอสมควร เช่น หากเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย บริษัทนั้นห้ามแจกปันผลผู้ถือหุ้น ประกอบกับหลังพ้น 5 ปี หุ้นกู้จะกลายสภาพเป็นหนี้ทั้งก้อนทันที จาก 5 ปีแรกมีสภาพเป็นทุนครึ่งหนึ่ง ทำให้ส่วนใหญ่มักไถ่ถอนก่อนกำหนดทั้งสิ้น

ด้วยความที่ดอกเบี้ยหุ้นกู้ค่อนข้างสูง บวกกับบริษัทส่วนใหญ่มักมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงยิ่งเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนแห่ลงทุน อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาและมีความระมัดระวัง เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังจะขยับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ของสถาบันการเงิน รวมถึงดอกเบี้ยหุ้นกู้ลอตต่อ ๆ ไปที่จะออกมาด้วยเช่นกัน