เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดูแลอุตฯโรงกลั่นและปิโตรเคมีให้ดี

โรงกลั่น
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ net zero เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับความท้าทาย ที่เรียกว่า transition risk ที่เกิดจาก 1.ความเสี่ยงจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม 2.ความเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิต และ 3.การเปลี่ยนแปลงของตลาด

1.ความเสี่ยงจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงนี้ เป็นผลสำคัญที่กำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี เนื่องจากนโยบายมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเคมี โดยการกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องใน supply chain เช่น

IMO หรือองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปี 2008 ภายในปี 2030 และให้ลดลงเหลือ 50% ภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันเตาที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอย่าง high sulfur fuel oil ถูกแทนที่ด้วย low sulfur fuel oil และเชื้อเพลิงสะอาดอื่น ๆ อย่าง LNG และผลกระทบที่ตามมาต่อผลิตภัณฑ์ส่วนล่างของหอกลั่น คือปริมาณความต้องการน้ำมันเตาจะเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ

2.ความเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิต

การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เช่น ผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ผู้ผลิตจะไม่มีการสร้าง conventional cracker หรือการผลิตปิโตรเคมีแบบดั้งเดิมอีกต่อไป โดย ethane-based cracker ในสหรัฐ จะมีการเพิ่มเทคโนโลยีที่ช่วยในการดักจับคาร์บอนอย่าง CCS เตาไฟฟ้าที่ทำงานด้วยพลังงานหมุนเวียน หรือเทคโนโลยีอีเทน-ดีไฮโดรจีเนชั่น ที่เป็นการผลิตเอทิลีน โดยทำให้อีเทนแตกตัวด้วยไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

สำหรับไทยแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดด้านการปล่อยคาร์บอนภายในประเทศ แต่ก็มีส่วนของตลาดส่งออกเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ทั้ง supply chain ที่ต้องส่งออกและมีพลาสติกเข้าไปเกี่ยวเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นให้ไทยต้องมีการใช้เทคโนโลยี ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องรับรู้ในอนาคตอันใกล้นี้ และผู้ที่เคยได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต อาจเปลี่ยนโฉมหน้าไป หากมีต้นทุนด้านการจัดการคาร์บอนเข้ามาเพิ่เติมด้วย

3.การเปลี่ยนแปลงของตลาด

เป้าหมาย net zero จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการกลั่นและปิโตรเคมี โดยผู้ประกอบการควรเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับไทย การเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นที่น่าจับตามองคือ การเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์จากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV โดยข้อมูลของรถจดทะเบียนใหม่ในปี 2021 ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าและกึ่งไฟฟ้า มีจำนวน 48,743 คัน เมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ 35,270 คัน หรือเติบโตขึ้น 38%

ในขณะที่รถยนต์สันดาปภายในมีการเติบโตเพียง 1.3% ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2020

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนรถ EV ที่มีเป้าหมาย 30 : 30 หมายถึงมีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานสะอาด (ZEV) ในประเทศ 30% ภายในปี 2030 ภาพตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมควรมีความเข้าใจในระดับความเสี่ยงของตนเอง จากต้นทุนด้านคาร์บอนที่ต้องจัดการภายในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับติดตามความชัดเจนของนโยบายด้านข้อกำหนดต่าง ๆ ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้ง supply chain เพื่อเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที