บทบรรณาธิการ : ย้อนวิกฤตปีเสือดุ

เศรษฐกิจ
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในรอบปี 2565 เกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจมากมายบนโลก เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เหนื่อยหนัก ประเทศไทยเองไม่พ้นตกอยู่ในวังวนความชุลมุน และดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ หนักหนาสาหัสที่สุดและกระทบเป็นวงกว้าง ไม่พ้นการเปิดศึกระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัย

จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รัฐบาลไทยตัดสินใจพยุงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกองทุนน้ำมันฯติดลบมโหฬารกว่า 1 แสนล้านบาท ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนต้องกู้เงินมาชดเชย และวางแผนเก็บเงินจากราคาน้ำมันเพื่อนำมาใช้หนี้ในอนาคต จึงเป็นที่แน่นอนว่าต่อให้น้ำมันโลกปรับลดลง คนไทยยังต้องใช้น้ำมันในราคาสูงต่อไปเรื่อย ๆ อีกพักใหญ่ จนกว่าจะหมดภาระหนี้ก้อนนี้

ที่ตามมาทั้งจากราคาพลังงานและปัญหาลากยาวของโควิด ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูง จนธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช่วิธีขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อ

ประเทศไทยที่ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปีต้านกระแสไม่ไหวต้องทยอยปรับอัตราดอกเบี้ย แม้จะขยับไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพียงครั้งละ 0.25% แต่ทำต่อเนื่อง 3 ครั้งซ้อน จนดอกเบี้ยที่เคยต่ำระดับ 0.50% ขยับขึ้นเป็น 1.25% ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าต้นปี 2566 มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก

เงินเฟ้อยังส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและรวดเร็วหลายครั้งติดต่อกัน ทำให้ค่าเงินทั่วโลกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐผันผวนอย่างหนัก เงินบาทไทยที่ต้นปี 2565 แข็งค่าระดับ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินบาทไทยอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ก่อนที่จะค่อย ๆ แข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี

หลากหลายปัจจัยที่โหมกระหน่ำเข้ามาในช่วงปี 2565 ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จนรัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน จนช่วงปลายปีตัวเลขลดลงบ้าง แต่หากดูเนื้อในส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วนจีดีพีที่ขยายตัวดีขึ้น เพราะการเปิดประเทศนั่นเอง

ทั้งหมดนั้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2565 ที่คนไทยต้องเผชิญอย่างยากลำบาก และหลาย ๆ เรื่องยังคงส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกยังกังวลว่าอาจจะหนักกว่าปี 2565 และอาจเกิดปัจจัยอื่นแทรกซ้อนขึ้นมาได้อีก คนไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ ที่สำคัญ “ก่อหนี้” ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้