วิกฤตเงินเฟ้อ “ค่าจ้างแท้จริง” ลดลงทั่วโลก

วิกฤตเงินเฟ้อ
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี
Bnomics:ธนาคารกรุงเทพ

วิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลกที่ได้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง บนความไม่แน่นอนทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงทั่วโลก (ค่าจ้างที่แท้จริง คือค่าจ้างที่หักผลด้านราคาแล้ว)

จากรายงานของ International Labour Organization ฉบับปี 2022-2023 พบว่าค่าจ้างรายเดือนที่แท้จริงทั่วโลกลดลง -0.9% ในปีนี้

นับเป็นการลดลงครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 ที่รายได้ที่แท้จริงลดลงพร้อมกันทั่วโลก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน รวมไปถึงวิกฤตค่าครองชีพที่เริ่มเห็นได้ชัดในปี 2022 ทำให้ IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง

ในส่วนของตลาดแรงงานพบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 การจ้างงานได้ฟื้นตัวกลับมาจากตอนที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง

ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ ยังคงมีการจ้างงานที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว ๆ 2% และการจ้างงานนอกระบบคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการจ้างงานในระบบ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความกังวลหลักคือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2022

โดยมีการคาดการณ์จาก IMF ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงแตะระดับ 8.8% ณ สิ้นปี 2022 และจะลดลงเหลือ 6.5% ในปี 2023 และเหลือ 4.1% ในปี 2024

เมื่ออัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และการปรับขึ้นของรายได้นั้นไม่สามารถตามเงินเฟ้อได้ทัน ทำให้มาตรฐานการดำรงชีพในหลาย ๆ ครัวเรือนลดลง

ถึงแม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคการจ้างงานในช่วงปีแรกที่มีการระบาด ทำให้ค่าจ้างทั่วโลกลดลงจาก 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 เหลือ 1,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 แต่ในปี 2021 ค่าจ้างทั่วโลกก็ฟื้นตัวกลับมาถึงระดับก่อนโควิดแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ค่าจ้างรายเดือนที่แท้จริงทั่วโลกลดลง -0.9% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022

นับเป็นการลดลงครั้งแรกในศตวรรษที่ 21 ที่รายได้ที่แท้จริงลดลงพร้อมกันทั่วโลก

หากไม่รวมการเติบโตของค่าจ้างจากประเทศจีน ที่ปกติแล้วการเติบโตของค่าจ้างจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก จะพบว่าการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 คาดว่าจะลดลง -1.4% และวิกฤตค่าครองชีพนี้จะยังคงกดดันแนวโน้มค่าจ้างต่อไปจนถึงสิ้นปี 2023

และวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเหล่านี้ ใช้จ่ายเงินส่วนมากไปกับสินค้าจำเป็นที่ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เช่น ในประเทศเม็กซิโก กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ใช้จ่ายรายได้กว่า 42% ไปกับค่าอาหาร ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูง รายจ่ายค่าอาหารคิดเป็นเพียง 14% ของรายได้ครัวเรือนเท่านั้น

การที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังไปกัดกินรายได้และสร้างความเจ็บปวดให้กับครัวเรือนในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ค่าจ้างที่แท้จริงปรับเพิ่มไม่ทันเงินเฟ้อ สร้างความไม่พอใจให้แรงงาน

เมื่อแรงงานรู้สึกว่าค่าจ้างที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงงานออกมาเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้ตามทันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เช่น ในสหราชอาณาจักรที่เผชิญอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 41 ปี ทำให้เกิดการผลักดันจากคนงานที่เรียกร้องให้ได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้น

ครัวเรือนในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับผลกระทบทางรายได้ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1956 และยิ่งไปกว่านั้น แรงงานที่ทำงานให้กับภาครัฐ พบว่าค่าจ้างมีการปรับตัวขึ้นช้ากว่าค่าจ้างของภาคเอกชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยมีการเติบโตของค่าจ้างเพียง 2.2% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตที่ 6.6% ในภาคเอกชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแตะเลขสองหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามที่จะโต้แย้งว่าการปรับขึ้นค่าจ้างไม่สามารถทำได้มากนัก เนื่องจากตอนนี้หนี้สาธารณะของภาครัฐอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับยุคหลังสงครามแล้ว

และการปรับขึ้นค่าจ้างอาจทำให้วิกฤตเงินเฟ้อย่ำแย่ลงไปมากกว่าเดิม

ในปี 2023 จะยังคงเป็นปีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะยังคงอยู่กับเราต่อไป และยังมีความไม่แน่นอนทางการเงินเกิดขึ้น

ดังนั้น เราควรให้ความสนใจกับค่าจ้างที่จะได้รับ โดยเฉพาะกับพนักงานที่มีรายได้น้อย เพราะการต่อสู้กับการลดลงของค่าจ้างที่แท้จริงจะสามารถช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้