ก่อนจะเป็น ร.ล. สุโขทัย : เกร็ดกฎหมาย

เรือหลวงสุโขทัย
ภาพจากเพจ เรือหลวงสุโขทัย FSG - 442
บทความพิเศษโดย : ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

ท่ามกลางความตึงเครียดทางทหาร/การเมืองไทยปี พ.ศ. 2528 นั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารของธนาคารในนิวยอร์กแห่งหนึ่ง (ดูเหมือนจะชื่อ Banker Trust) เข้ามาพบผมที่สำนักงาน Baker & McKenzie แจ้งว่าเขาพึ่งบินมาจากนิวยอร์กขอให้ช่วยทำงานด่วนเรื่องหนึ่ง

เขาเล่าว่า ในปี 2526 กองทัพเรือไทยว่าจ้างบริษัท Tacoma Boatbuiding Company, เมือง Tacoma, รัฐ Washington, USA ซึ่งเป็นอู่ชำนาญในด้านนี้ต่อเรือรบรุ่น Corvette Class สองลำ (โดยปรับปรุงจากแบบเรือรุ่น Badr Class ของ Saudi Arabia) และทาง Tacoma Boatbuilding ได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว กำลังพร้อมที่จะต่อเรือขึ้นได้ แต่เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น

โดยตำรวจสงสัยกันว่าในปี 2528 นั้นผู้บริหารของ Tacoma Boatbuilding ยักยอกเอาเงินของบริษัทหนีหายไป ทำให้บริษัทขาดเงินหมุนเวียนที่จะจ่ายเจ้าหนี้การค้าและเงินเดือนพนักงานให้ดำเนินการต่อ

Tacoma Boatbuilding จึงยื่นขอฟื้นฟูกิจการตาม Chapter 11 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ โดยจ้างธนาคารมาประสานงาน ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้นั้นเขาต้องการเงินกู้ ซึ่งก็มีกลุ่มธนาคารหนึ่งยินดีจะให้เงินกู้แก่ Tacoma Boatbuilding มาใช้จ่ายในการต่อเรือให้เสร็จ เพื่อที่จะได้รับค่าจ้างต่อเรือจากกองทัพเรือ

ถ้าลูกค้ารายสำคัญของ Tacoma Boatbuilding ในขณะนั้นคือกองทัพเรือไทย ยืนยันว่าจะให้ Tacoma Boatbuilding ต่อเรือรบสองลำนี้ให้เสร็จ (กลุ่มธนาคารคงกลัวว่ากองทัพเรือไทยจะยกเลิกสัญญาไม่จ่ายค่าต่อเรือให้ Tacoma Boatbuilding เพราะการต่อเรือต้องล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาเพราะขาดสภาพคล่อง)

ศาลสหรัฐจะอนุมัติแผนฟื้นฟูของอู่ต่อเรือก็ต่อเมื่อกองทัพเรือไทยตกลงให้ Tacoma Boatbuilding ต่อเรือต่อไป โดยต้องยืนยันภายในอีกสองวันนับจากวันนั้น

นายธนาคารคนนี้ได้ติดต่อไปทางกองทัพเรือซึ่งกำลังมีภารกิจเร่งด่วนเพราะสถานการณ์การทหาร/การเมืองที่ไม่สงบในสัปดาห์นั้น แต่เขาไม่สามารถอธิบายให้ทางกองทัพเรือเข้าใจเรื่องกระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม Chapter 11 ของกฎหมายล้มละลายอเมริกันได้เป็นภาษาอังกฤษทางโทรศัพท์ เพราะ Chapter 11 เป็นหลักกฎหมายที่ประเทศไทยไม่รู้จักในขณะนั้น จึงเข้ามาปรึกษาผม

สรุปหน้าที่ของนายธนาคารคนนี้และของผม คือไปขอให้กองทัพเรือไทยลงนามต่อหน้านายธนาคารท่านนี้เพื่อแสดงความยินยอมและยืนยันต่อศาลสหรัฐว่ากองทัพเรือไทยยินยอมให้ Tacoma Boatbuilding ทำงานต่อ

ถ้าทำภารกิจของเราไม่สำเร็จภายในกำหนด ศาลสหรัฐจะไม่อนุมัติแผนอันจะเป็นผลให้บริษัท Tacoma Boatbuilding ล้มละลาย ช่างต่อเรือจะตกงาน และไม่สามารถส่งมอบเรือทั้งสองลำให้กองทัพเรือได้ กองทัพเรือต้องเสียเวลาจัดหาอู่ต่อเรือใหม่

ผมก็ โทร.ติดต่อไปอธิบายให้ทางเจ้าหน้าที่กองทัพเรือฟังถึงข้อดีข้อเสีย ซึ่งทางกองทัพเรือก็ยอมให้เราเข้าไปอธิบายให้แม่ทัพเรือฟัง

รุ่งขึ้นผมกับลูกความรายนี้ก็ไปที่กองทัพเรือที่พระราชวังเดิม โดยแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยผูกเนกไท ใส่เสื้อนอกไป เขาให้จอดรถข้างนอกเครื่องกีดขวางแล้วเดินเข้าไป ไม่นานนักเราสองคนก็เริ่มสังเกตว่าเหมือนเราอยู่กันคนละมิติกับทหารเรือ เราแต่งตัวชุดธุรกิจถือกระเป๋าเอกสารคนละใบ ประหลาดกว่าคนอื่น ๆ ในกองทัพเรือขณะนั้นที่ใส่ชุดลายพราง สวมหมวกเหล็ก ถือปืนวิ่งกันพลุกพล่าน ในขณะที่มีกระสอบทรายและเหล็กกีดขวางวางตั้งเป็นบังเกอร์เต็มไปหมด

ลูกความฝรั่งก็สะกิดถามว่าเรามาผิดวันหรือเปล่า ผมเลยถามทหารที่นำทางเราว่ากำลังซ้อมรบกันหรืออะไร ทหารมองหน้าผมแล้วบอกว่าไม่ได้อ่านข่าวเหรอ ไม่ได้ซ้อมแต่เตรียมรบจริง ตอนนี้กำลังตึงเครียด ไม่รู้จะถูกบอมบ์หรือเปล่า ได้ยินว่ารถถังเขายิงแล้ว ผมฟังแล้วเลยไม่ถามต่อพากันเดินเร็วขึ้นเข้าไปรอในบังเกอร์หนึ่ง

สักครู่ท่านแม่ทัพเรือกับคณะก็เข้ามาในบังเกอร์ ภายใต้ภาวะที่ทหารกำลังมีทีท่าตึงเครียดขนาดนั้น ผมอธิบายกระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม Chapter 11 ว่าเป็นโอกาสที่เขาจะต่อและส่งมอบเรือทั้งสองลำให้กองทัพเรือได้ในเวลาอันสั้นและเข้าใจง่ายที่สุด ท่านฟังแล้ว ท่านก็ตกลงลงนามให้เดี๋ยวนั้น และท่านบอกว่าขอให้กำชับไปทางอู่ต่อเรือว่าให้เสร็จงานเร็วที่สุด แล้วท่านก็ให้คนขับรถจี้ปทหารส่งเราออกมาพ้นเขตทหารโดยเร็ว

เรื่องนี้ก็จบด้วยดีสำหรับทุกคน

-วิกฤตการณ์ปี 2528 นั้นไม่มีการปะทะกันในเขตทหารเรือ ทุกท่านปลอดภัยดี

-สองวันต่อมาศาลสหรัฐอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ Tacoma Boatbuilding ตาม Chapter 11

-กลุ่มธนาคารก็สนับสนุนการเงินแก่ Tacoma Boatbuilding พนักงานก็ไม่ตกงาน และสามารถเร่งต่อเรือภายใต้แผนฟื้นฟูตามที่ศาลอนุมัติ (Tacoma Boatbuilding ประกอบกิจการต่อมาอีกหลายปี)

-เดือนต่อมา ฝรั่งนายธนาคารที่มากองทัพเรือกับผมนั้นแจ้งมาว่าได้เลื่อนตำแหน่งจาก Vice President เป็น Senior Vice President เป็นใหญ่เป็นโตในนิวยอร์ก

-สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ Tacoma Boatbuilding ได้ฟื้นคืนชีพจากการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวขึ้นมาทำงานตามสัญญาจนส่งมอบเรือมาเป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือไทยสองลำคือ

ร.ล. รัตนโกสินทร์ FS-441 ส่งมอบเมื่อ 11 มีนาคม 2529 (ไม่กี่เดือนหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น) ประจำการเมื่อ 26 กันยายน 2529 ปัจจุบันปลดระวางไปแล้ว

ร.ล. สุโขทัย FS-442 ส่งมอบเมื่อ 20 กรกฎาคม 2529 (ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์วันนั้น) เข้าประจำการเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2530 จมเมื่อ 18 ธันวาคม 2565

ส่วนผมนั้นภูมิใจมาตลอดที่ในวันนั้น ได้มีโอกาสเล็ก ๆ ปิดทองหลังพระร่วมในภารกิจจัดหาเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือไทย

ด้วยความเคารพต่อลูกประดู่ทุกท่านที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการที่ ร.ล. สุโขทัยจมด้วยครับ