บทบรรณาธิการ : พรปีใหม่สะท้อนเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ ประเทศไทย วัด กรุงเทพ
Photo by Jack TAYLOR / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เหมือนมีนัยบางอย่างสะท้อนผ่าน “กรุงเทพโพลล์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “พรปีใหม่ 2566 ที่คนไทยอยากขอ” โดยให้ขอพร 1 ข้อ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวาระขึ้นปีใหม่ 2566 ปีเถาะ จะขออะไร ให้กับคนไทย ประเทศไทย พร้อมจัด 10 อันดับการขอพรปีใหม่มากที่สุด

ที่น่าสนใจมีราว ๆ ครึ่งหนึ่งที่ขอพรเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อันดับ 1 “ขอให้ธุรกิจ เศรษฐกิจในประเทศปัง ๆ” อันดับ 5 “ขอให้ข้าวของไม่แพง ค่าครองชีพไม่สูง” อันดับ 7 “ขอให้น้ำมันถูกลงกว่าปีที่ผ่านมา” อันดับ 9 “ขอให้การท่องเที่ยวคึกคัก” เป็นต้น นอกจากนี้ มี 2 อันดับเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งให้หมดไปจากประเทศไทย และอย่าให้เกิดขึ้นอีก แตกต่างจากในอดีตที่คนไทยส่วนใหญ่จะขอพรเรื่องสุขภาพเป็นอันดับแรกสุด

ผลสำรวจที่ออกมาสะท้อนแนวคิดเรื่องความสำคัญของระบบเศรษฐกิจได้อย่างดี เพราะในปี 2565 คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางลงมา ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งราคาน้ำมันสูง ค่าครองชีพพุ่งแรง ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง

จนส่งผลกระทบที่เห็นชัดจากอัตราเงินเฟ้อตลอดปี 2565 สูงถึง 6.08% มากสุดในรอบ 24 ปี หรือนับจากปี 2541 ซึ่งเป็นปีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่จาก “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยต้องลดค่าเงินบาทช่วงกลางปี 2540

สิ่งที่ตามมานอกจากความปั่นป่วนด้านเศรษฐกิจ คนตกงาน ตลาดหุ้นพังพินาศ ฯลฯ ทำให้คนไทยจำนวนมากเริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจ และเฝ้ามองการบริหารประเทศของนักการเมืองมากขึ้น เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย

ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเมื่อถึงศึกเลือกตั้งใหญ่หลังจากนั้น หลายพรรคการเมืองชูนโยบายด้านการบริหารและเศรษฐกิจเป็นหลัก แทนการสาดโคลนใส่กันเหมือนสมัยเก่า

การประกาศนโยบายเพื่อปากท้อง และการวางแผนเศรษฐกิจในภาพรวม กลายเป็นกระแสหลักในการหาเสียงมาจนทุกวันนี้ แม้ยังมีพาดพิงใส่ร้าย หรือขุดข้อมูลผิดพลาดเก่า ๆ มาประจานกันบ้าง แต่ไม่หนักหน่วงเหมือนการเลือกตั้งก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่หาช่องโหว่ของนโยบายแต่ละพรรคว่าทำได้จริง หรือแค่ราคาคุย ถือว่าเป็นการพัฒนาการเมืองไทยในระดับหนึ่ง

แม้ในปี 2566 ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง เชื่อว่ากระแสเงินเฟ้อจะเบาบางลง ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจไทยยังพอพึ่งพาได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาเติบโตมากขึ้น แต่หากดูผลสำรวจการขอพรปีใหม่ของคนไทย ที่ยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด

คงเป็นการบ้านสำคัญของพรรคการเมืองที่เริ่มโหมโรงหาเสียง ว่าพรรคไหนจะแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่ากัน เพื่อช่วงชิงกระแสนิยม ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้