ธุรกิจปรับตัวรับ โลกร้อน

ธุรกิจปรับตัวรับโลกร้อน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

ตลอดเวลาผ่านมาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังไม่เป็นที่สนใจของใครมากนัก

โดยเฉพาะประเทศไทย

แต่ในทางกลับกัน หลายประเทศทั่วโลก ทั้งฝั่งตะวันตก และยุโรป กลับให้ความสนใจเรื่องนี้ก่อนใคร เพราะเขาเริ่มมองเห็นความผิดปกติของโลกจากสภาพอากาศแปรปรวน

น้ำแข็งบนขั้วโลกเหนือเริ่มละลาย และมองเห็นเหล่าสรรพชีวิตที่อยู่บริเวณเหล่านั้นเริ่มล้มหายตายจาก

ขณะที่โลกของเราอุณหภูมิสูงขึ้นทุกวัน ฤดูหนาวไม่เป็นฤดูหนาว ฤดูร้อนไม่เป็นดั่งที่เคยจะเป็น

ขณะที่ฤดูฝนก็เกิดสภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลัน

ทั้งยังมีพายุไซโคลน ดีเปรสชั่น สึนามิ แผ่นดินไหว และอะไรต่าง ๆ มากมาย จนทำให้ฤดูกาลไม่เหมือนเดิม

มนุษย์จึงเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับลงมือทำการศึกษาว่าจะชะลอ หรือหยุดเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

จนพบคำตอบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลกเป็นเช่นนี้

เนื่องจากมนุษย์ และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจของมนุษย์นี่แหละคือ “ตัวการ” สำคัญในการทำลายโลกใบนี้

ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การใช้พลังงานธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง และการตัดไม้ทำลายป่าอย่างบ้าคลั่ง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้โลกฝั่งตะวันตก และฝั่งยุโรป หันมาให้ความสำคัญต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability development-SD) มากขึ้น

ทั้งยังให้ความสำคัญต่อเรื่อง “สิ่งแวดล้อม (E-environment) สังคม (S-social), ธรรมาภิบาล (G-governance)” หรือ “ESG” มากขึ้นเช่นกัน เพราะมองเห็นแล้วว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นหนทางเดียว (ในขณะนี้) ที่จะทำให้โลกอยู่รอดปลอดภัยจากสภาวะดังที่กล่าวมา

ขณะที่ประเทศไทยเองยังย่ำอยู่กับเรื่องของ “CSR” อย่างหัวปักหัวปำ จนเมื่อไม่กี่ปีผ่านมา เรื่องของ “SD” และ “ESG” จึงเข้าไปสอดแทรกอยู่ใน บมจ.ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดว่าทุก ๆ บริษัทจดทะเบียนจะต้องเขียนรายงานความยั่งยืนในบริษัทของตัวเอง

ทั้งยังจะต้องตั้งเป้าธุรกิจเพื่อช่วยขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ

แต่ปัญหาคือเราขาดแคลนผู้มีความรู้ทางด้านนี้

เพราะคนที่จะเข้ามาทำเรื่อง “SD” หรือ “ESG” จะต้องมีความรู้แบบสหวิทยาการที่ครอบคลุมทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สำคัญ จะต้องทำให้ธุรกิจเกิดผลกำไรด้วย

ไม่ใช่ทำแล้วเจ๊ง

ถึงตอนนี้จึงเป็นโอกาสของมนุษย์ SD และมนุษย์ ESG เพราะบริษัทเฮดฮันเตอร์ต่างควานหาตัวผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้เข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ และทำท่าว่าภายใน 3-5 ปี ผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับผู้เชี่ยวชาญ และนักยุทธศาสตร์ ซึ่งมีค่าตัวสูงมาก ๆ

ผมไม่รู้หรอกครับว่า…บุคคลเหล่านี้อยู่ที่ไหน ? ค่าตัวเท่าไหร่ ?

รู้แต่เพียงว่า…ในกลุ่มก้อนของพวกเขาจะรู้กันเอง และรู้ด้วยว่า…ใครถนัดด้านไหน ? อย่างไร ?

โลกยิ่งร้อนขึ้น ธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เร็วที่สุดเช่นกัน

ผมคิดเช่นนั้นนะ ?