เปลี่ยนระบบธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

เช่าซื้อ
คอลัมน์ : แบงกชาติชวนคุย
ผู้เขียน : ชญาวดี

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ช่วงนี้เราเริ่มเห็นรถราออกมาวิ่งขวักไขว่หนาตาขึ้นในหลายพื้นที่กันอีกครั้ง จากข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า มีจำนวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถประเภทอื่น ๆ จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 41,955,920 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึง 1,067,969 คัน สะท้อนการทยอยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ที่เห็นได้จากความต้องการใช้รถ ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือในการทำมาหากินของประชาชนที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เพื่อใช้งานสักคัน คนทั่วไปและธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้ใช้บริการที่เรียกว่า เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง ซึ่งปัจจุบัน 1 ใน 3 ของยอดธุรกรรมเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง มาจากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ หรือเรียกว่ากลุ่ม nonbank ที่ยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะเข้ามากำกับดูแล มีเพียงการกำหนดมาตรฐานของสัญญา และการรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา จำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการเช่าซื้อ-ลีสซิ่งรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของ nonbank ไม่ว่าจะเป็นการคิดภาระหนี้คงค้างตามสัญญาเช่าซื้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าปรับ ที่ค่อนข้างสูง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร การขายรถทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำ

ทำให้ลูกหนี้ยังมีส่วนที่ต้องชำระเพิ่ม หรือที่เรียกว่า “ติ่งหนี้” จนทำให้ลูกหนี้บางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยยังสูง

โดยยอดสินเชื่อคงค้างในปัจจุบันสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% ของหนี้ครัวเรือนไทย หลายกรณีนำไปสู่การฟ้องร้อง จึงเป็นอีกหนึ่งความเปราะบางของครัวเรือนที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ สคบ.จึงออกมาตรฐานกลางเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมและเท่าเทียมในการให้บริการด้านนี้แก่ประชาชน ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของ สคบ. ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เรื่องที่สำคัญคือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่

ไม่เกิน 15% สำหรับรถยนต์มือสอง และไม่เกิน 23% สำหรับรถจักรยานยนต์

การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้ซื้อรถได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ โดยผู้ซื้อรถที่ทำสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 จะใช้ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว

หากลูกหนี้นำเงินก้อนมาโปะปิดก่อนกำหนด เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เกิน 40% (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50%) ของยอดดอกเบี้ยคงเหลือ โดยขึ้นอยู่กับค่างวดที่ชำระไปแล้วด้วย

เช่น หากชำระค่างวดมาเกิน 2 ใน 3 ของทั้งหมด แล้วนำเงินก้อนมาโปะปิดได้ก่อนกำหนด จะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือ รวมทั้งลดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่างวดเหลือไม่เกิน 5% จากเดิมไม่เกิน 15%

และปรับการคิดติ่งหนี้กรณีรถที่โดนยึด ให้คิดได้เฉพาะค่างวดที่ผิดนัดชำระ ค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ก่อนมีการบอกเลิกสัญญา

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังต้องแจ้งสิทธิเรื่องการซื้อรถคืนและการขายทอดตลาดให้ลูกหนี้ทราบชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้

ในส่วนของแบงก์ชาติและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็จับมือกันจัดทำ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” (พ.ร.ฎ.ธุรกิจเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง)

เพื่อให้การประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีการกำกับตรวจสอบเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินที่ไม่ส่งเสริมให้ก่อหนี้สินเกินตัว

รวมทั้งมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ได้รับข้อมูลโปร่งใสเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเข้าถึงบริการด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ.นี้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่ช่วงนี้ได้รับคำถามว่า เมื่อต้องคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ผู้ให้กู้ซึ่งคำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับเทียบกับความเสี่ยงที่จะชำระคืนไม่ได้ อาจ “ปล่อยกู้ยากขึ้น” หรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีรถจักรยานยนต์ที่เคยคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่านี้ ก็จะส่งผลต่อกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง ไม่มีข้อมูลรายได้ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างการเข้าถึงบริการเช่าซื้อ-ลีสซิ่งของคนตัวเล็ก เสี่ยงสูง กับการดูแลให้บริการนี้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในภาพรวม

ทั้งนี้ในฐานะ “ผู้กำหนดนโยบาย” เราอยากเห็นการปรับตัวของ “ผู้ให้บริการ” เพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นว่าไม่ได้เอาเปรียบประชาชนจนเกินไป ตลอดจนมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมวินัยทางการเงิน และบรรเทาปัญหาการก่อหนี้สินเกินตัวของลูกหนี้

ขณะที่ “ภาครัฐ” จะมีช่องทางในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อีกทั้งมีข้อมูลสำหรับดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนและเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย

ที่สำคัญคือ “ผู้ใช้บริการ” ต้องตระหนักถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยหรือให้ส่วนลด แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลยหากคนไทยไม่มีวินัยทางการเงิน

การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนอย่างเรื่องหนี้สิน ความร่วมมือกันของภาครัฐ ผู้ประกอบการ ไปจนถึงลูกหนี้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง แต่คงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยได้อย่างมีสมดุลค่ะ