บทบรรณาธิการ : จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไร

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ครบ 7 วัน ปรากฏตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ว่า โควิด-19 รอบใหม่กำลังกลับมาระบาดอีกครั้ง ผู้คนใกล้ตัวล้วนแล้วแต่มีการแจ้งติดโรคโควิด-19 กันเป็นรายวัน ท่ามกลางความกังวลที่ว่า จะเป็นการติดจากเชื้อไวรัสโอมิครอนกลายพันธุ์ XBB.1.16 ที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในประเทศอินเดียขณะนี้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 เมษายน-22 เมษายน 2566 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,088 คน หรือเฉลี่ยวันละ 155 คน ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 6,571 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 5 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 278 คน เปรียบเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 9 เมษายน-15 เมษายน 2566 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 435 คน หรือเฉลี่ยวันละ 62 คน ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 5,483 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 คน หรือเฉลี่ยวันละ 0 คน

ทั้งนี้ ได้มีการพลอตกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่าง “ก่อน” สัปดาห์สงกรานต์กับ “หลัง” สัปดาห์สงกรานต์ พบว่าเส้นกราฟกำลังวิ่งชันขึ้น หรือมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายผู้คนในระหว่างงานเทศกาล การแออัดยัดเยียดในการเล่นน้ำ การดื่มกิน หลงลืมการเว้นระยะห่าง สนุกสุดเหวี่ยง ขาดการป้องกันตนเองโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้เป็นไปตามคาดการณ์ของทั้งกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำที่ว่า จะพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ล่าสุด กรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า โรคโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่ (XBB.1.16) จะพบการระบาดในไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่าง ๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริงที่จะมีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก มาจากการเดินทางจากหลายพื้นที่ จนเกิดการสัมผัสใกล้ชิด และใช้ระยะเวลานานในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ

ซึ่งหมายถึง “ความเสี่ยง” ที่จะก่อให้เกิดการแพร่กระจายโรคในวงกว้าง แม้จะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังก็ตาม จึงควรที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคด้วยการเว้นระยะห่าง และกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิด ความใส่ใจรักษาความสะอาด ใส่หน้ากากอนามัย

แม้อาการของโรคจะไม่รุนแรง แต่โรคสามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ใช้เวลารักษา 5-10 วัน หากติดต่อกันเป็นวงกว้างก็จะมีจำนวนคนป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขของประเทศได้