อยากมีรัฐสวัสดิการดี ๆ รูปแบบการเก็บภาษีควรเป็นอย่างไร ?

รัฐสวัสดิการ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี


“รัฐสวัสดิการ” อยู่ในบทสนทนาของคนไทยมากขึ้น หลังจากพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง

แม้ว่าคนจำนวนมากยินดีถ้าประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการดี ๆ แต่คนไม่น้อยเช่นกันที่ตั้งคำถามว่า จะเอาเงินจากไหนมาทำ จะเก็บภาษีมากขึ้นแค่ไหน ? ซึ่งคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือพรรคก้าวไกลเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากขอชวนมาคลี่ดูตัวอย่างการเก็บภาษีของประเทศที่มีรัฐสวัสดิการว่าเขามีรูปแบบการเก็บภาษีอย่างไรกันบ้าง อ้างอิงเนื้อหาในหนังสือ “รัฐสวัสดิการกับสังคมประชาธิปไตย” เขียนโดย อเล็กซานเดอร์ เพทริง และคณะ

รัฐสวัสดิการในโลกนี้แบ่งได้ 3 แบบ คือ รัฐสวัสดิการแบบแองโกลแซกซอน (อย่างสหรัฐอเมริกา) รัฐสวัสดิการแบบยุโรปภาคพื้นทวีป และรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย ซึ่งระบบภาษีของทั้งสามแบบนี้ต่างกัน และนำไปสู่ผลกระทบด้านการกระจายจัดสรรความมั่งคั่งที่ต่างกันด้วย

รัฐภาษีแบบแองโกลแซกซอน อย่างสหรัฐอเมริกา มีภาระภาษีโดยรวมค่อนข้างต่ำ รายรับของรัฐส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษีทางตรง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอัตราที่ก้าวหน้าน้อย ส่วนภาษีทางอ้อมและเงินสมทบเพื่อสังคมก็อยู่ในระดับต่ำ

รัฐภาษีแบบยุโรปภาคพื้นทวีป อย่างเยอรมนี ภาระภาษีโดยรวมอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง โดยสัดส่วนของภาษีทางตรงในรายรับภาครัฐค่อนข้างต่ำ ขณะที่สัดส่วนของเงินสมทบเพื่อสังคมหรือเงินสมทบประกันสังคมสูง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดแรงงานได้

รัฐภาษีแบบสแกนดิเนเวีย อย่างเดนมาร์ก ภาระภาษีทั้งหมดอยู่ในระดับสูง และเนื่องจากระบบภาษีคือแหล่งเงินสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางสังคมส่วนใหญ่แทบทั้งหมด ระดับเงินสมทบเพื่อความมั่นคงทางสังคมจึงต่ำ

ส่วนความแตกต่างของผลกระทบด้านการกระจายจัดสรรความมั่งคั่งของรูปแบบรัฐสวัสดิการ-รูปแบบระบบภาษีทั้งสามนั้น รัฐสวัสดิการแบบแองโกลแซกซอนซึ่งรายรับของรัฐมาจากภาษีทางตรงเป็นหลัก สัดส่วนของภาษีอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น รัฐจึงมีทรัพยากรสำหรับดำเนินนโยบายทางสังคมอย่างจำกัดมาก จึงคาดการณ์ได้ว่ารัฐภาษีแบบแองโกลแซกซอนมีลักษณะการจัดสรรกระจายที่ค่อนข้างเหลื่อมล้ำ ในเชิงเปรียบเทียบ

ขณะที่ผลกระทบด้านการกระจายจัดสรรในรัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวีย ซึ่งรายรับของรัฐพึ่งพาภาษีทางตรงเป็นหลัก โดยมีลักษณะก้าวหน้าสูง และมุ่งให้เกิดผลด้านการจัดสรรกระจายความมั่งคั่งกลับสู่สังคม จึงคาดการณ์ว่ารัฐสวัสดิการรูปแบบนี้จะมีระดับความเท่าเทียมทางรายได้ที่สูง

ส่วนรัฐสวัสดิการยุโรปภาคพื้นทวีป อย่างเยอรนี ซึ่งพึ่งพาภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเท่า ๆ กัน ภาษีเงินได้มีอัตราที่ก้าวหน้า ภาษีทางอ้อมมีอัตราที่ถดถอย ภาษีจากความมั่งคั่งอยู่ในระดับต่ำ และภาระภาษีฝั่งทุนค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับฝั่งแรงงาน สัดส่วนของภาษีโดยรวมทั้งหมดอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง คาดการณ์ว่าความเหลื่อมล้ำน่าจะอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง

สรุปก็คือ รัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวียเป็นรูปแบบที่มีความเท่าเทียมมากที่สุด หรือกล่าวอีกด้านคือ มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด