ออก พบ ตก

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

คนหนึ่งเกิด และเติบโตจากโลกตะวันตก บนแผ่นดินอันศิวิไลซ์ที่มีทุกสรรพสิ่งพร้อมสรรพ แต่ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น กอปรกับเธอเคยเป็นอดีตช่างภาพจากประเทศอังกฤษ และเคยทำงานโครงการพัฒนาการถ่ายภาพทางตอนเหนือของ สปป.ลาว จึงทำให้เธออยากเดินทางมาในเส้นทางที่แตกต่างบ้าง

นัยหนึ่งเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต

นัยหนึ่งเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเอง

จนที่สุด เธอตัดสินใจเดินทางมายังเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี 2542 และในปีเดียวกันนั้น “เธอ” คือ “โจแอน สมิธ” จึงลาออกจากอาชีพช่างภาพเพื่อมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพระบาง

สถานที่แห่งนี้ทำให้ “โจแอน สมิธ” มีโอกาสพบกับหญิงสาวชาวลาวคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันออก โดยถิ่นอาศัยของเธอพำนักอยู่แถบชนบทเล็ก ๆ ของเมืองหลวงพระบาง หมู่บ้านของเธอมีชื่อเสียงมากในเรื่องของการทอผ้า และช่างฝีมือ

ที่สำคัญ ครอบครัวของเธอมีความชำนาญเรื่องการทอผ้าไหม จนทำให้หญิงสาวชาวลาวคนนี้เรียนรู้เรื่องการทอผ้าตั้งแต่ยังเด็ก ๆ และต่อมาเธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า, การมัดย้อมผ้าไหมโดยวิธีธรรมชาติ ทั้งยังเป็นช่างแกะสลักโพรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตั้งแต่อายุ 16 ปี

เพียงแต่ขณะนั้นผ้าทอมีลูกค้าจำกัด เธอจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อมาทำงานยังแผนกต้อนรับของโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพระบาง

จนทำให้เธอสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ แต่กระนั้น หญิงสาวชาวลาวที่ชื่อ “แววมะนี ดวงดาลา” ก็มีความฝันในใจลึก ๆ ว่า…สักวันหนึ่งเธอจะกลับมาทอผ้าอีกครั้ง

กระทั่งวันนั้นมาถึงในปี 2542 “แววมะนี” และ “โจแอน สมิธ” มีโอกาสเจอกันที่โรงเรียนนอกเวลาแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพระบาง เธอทั้งคู่คุยกันถูกคอ และเธอทั้งคู่ต่างมีความฝันคล้ายคลึงกันที่อยากจะมีโรงทอผ้าเป็นของตัวเอง

“แววมะนี” จึงชวน “โจแอน สมิธ” ไปเรียนรู้เรื่องการทอผ้าในหมู่บ้านของเธอ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ที่สุดความฝันของเธอทั้งคู่ก็เป็นจริง

พวกเธอตัดสินใจเปิดร้านเล็ก ๆ ในเมืองหลวงพระบางชื่อว่า…ออกพบตก (Ock Pop Tok) ในปี 2543 อันมีความหมายมาจากคำว่า “east meet west” หรือคนจากโลกตะวันออกมีโอกาสพบกับคนจากโลกตะวันตก แล้วจากนั้นเธอทั้งคู่ก็ต่างถักทอความฝันของตัวเองขึ้นมา ด้วยการชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้านต่าง ๆ ของ สปป.ลาวมาทอผ้าทอมือ

ดังนั้น ผ้าทุกผืนจึงบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของ สปป.ลาวอย่างมีคุณค่า และด้วยเหตุนี้ ในปี 2549 “ออกพบตก” จึงเริ่มโครงการทอผ้าในหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือด้านการออกแบบ และการตลาดกว่า 11 จังหวัดใน สปป.ลาว จนทำให้ผ้าทอมือของโครงการกลายเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ กระทั่งขยายผลไปสู่นานาชาติ

นอกจากนั้น พวกเธอยังหวังผลให้ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ของ สปป.ลาวมีอาชีพ และรายได้เลี้ยงตัวอย่างยั่งยืน ด้วยการให้คนในชุมชนหันมาทำ “social enterprise-SE” หรือ “กิจการเพื่อสังคม” ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “ออกพบตก” จึงเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าโบราณ และผ้าสมัยใหม่ของเมืองหลวงพระบาง

จนทุกวันนี้