รัฐ ทุน หุ้น กับ “ภาษีลาภลอย” ที่เก็บไม่ได้ ถ้าใจไม่เด็ด

ภาษีลาภลอย
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
ผู้เขียน รุ่งนภา พิมมะศรี

ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงสองปีที่ผ่านมา คือ การเรียกร้องให้เก็บ “ภาษีลาภลอย” (windfall tax) จากธุรกิจที่ทำกำไรมโหฬารในขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคกำลังลำบาก

ธุรกิจที่เป็นเป้าที่จะถูกเก็บภาษีลาภลอย คือ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจธนาคาร

หลายประเทศในยุโรปมีการเก็บภาษีลาภลอยจากธุรกิจพลังงานไปแล้วในช่วงที่น้ำมันราคาแพงมาก ๆ ช่วงกลางปี 2022

ช่วงนั้นในประเทศไทยก็มีการเรียกร้องเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อนำเงินไปช่วยลดราคาน้ำมันที่ผู้บริโภคต้องจ่ายที่ปลายทาง แต่ก็สรุปว่าไม่ได้เก็บ รัฐเลือกใช้เงินจากส่วนอื่นมาอุ้มแทน

ต่อมาเมื่อธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงเพื่อสู้เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผ่านต้นทุนไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สูงตาม ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมหาศาล การเรียกร้องให้เก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารก็ปะทุขึ้น มีการเคลื่อนไหวทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

บางประเทศสั่งการเก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารแล้ว เช่น สเปนที่กำหนดอัตราชั่วคราวสำหรับปี 2023 และ 2024 ในอัตรา 4.8% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าคอมมิชชั่นสุทธิ และฮังการีที่กำหนดอัตรา 10% ของกำไรสุทธิในปี 2022 และอัตรา 8% ของกำไรสุทธิในปี 2023

กรณีน่าสนใจล่าสุด คือ ประเทศอิตาลี ที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าจะเก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารแบบเก็บครั้งเดียว โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันถึง 40% ของกำไรดอกเบี้ยของธนาคารในปี 2023 นี้ และจะนำเงินภาษีที่ได้ไปช่วยเหลือประชาชนที่มี “หนี้บ้าน” ซึ่งเป็นหนี้ก้อนโตที่สุดของคนทั่วไป

นักวิเคราะห์บางสถาบันประเมินว่า รัฐบาลอิตาลีจะมีรายได้จากการเก็บภาษีนี้ราว 2-3 พันล้านยูโร บางสถาบันก็ประเมินสูงถึง 4.5-5 พันล้านยูโร ขณะที่ฝั่งธนาคารต้องเสียค่าใช้จ่ายคิดเป็นประมาณ 2-9% ของรายได้ในปีนี้ และคิดเป็นประมาณ 19% ของกำไรสุทธิ

ยอมรับว่ารู้สึกว้าว ! เมื่อเห็นข่าวว่ารัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมจะเก็บภาษีในอัตราที่ดูเหมือนไม่เกรงใจทุนใหญ่

สื่อตะวันตกบางสำนักให้ข้อมูลเชิงตำหนิเล็กน้อยว่า รัฐบาลอิตาลีวิจารณ์ธนาคารตั้งหลายครั้งแล้วเรื่องที่ธนาคารเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้ลูกค้าน้อยเกินไป แต่เพิ่งจะมา take action เอาตอนนี้ หลังจากที่เห็นรายได้ธนาคารรอบล่าสุดที่รายงานเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ถึงอย่างนั้นก็ตาม คำพูดของ มัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Salvini) รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่กล่าวในการแถลงข่าวว่า ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้เพิ่มขึ้นสองเท่าตามไปด้วย “มีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก” – ก็นับว่าเป็นคำพูดระดับมาตรฐานที่ดีที่ประชาชนประเทศไหน ๆ ก็คงอยากได้ยินจากรัฐบาลของตนเอง

แต่เพียงวันเดียวเท่านั้น รัฐบาลอิตาลีก็ต้องปรับนโยบาย เมื่อฝั่ง “ทุน” แสดงออกประท้วงนโยบายของรัฐผ่านตลาดหุ้น

หุ้นธนาคารอิตาลีดิ่งลงอย่างแรงในวันอังคาร ถัดจากที่รัฐบาลอิตาลีประกาศเก็บภาษีตอนช่วงค่ำของวันจันทร์

ในวันเดียว หุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลีสูญเสียมูลค่าตลาดไป 9,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 348,000 ล้านบาท

เย็นวันอังคาร รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอิตาลีออกมาประกาศเพิ่มเติมว่า สำหรับ “สินทรัพย์เสี่ยง” จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 0.1% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในส่วนที่ธนาคารเก็บได้จากสินเชื่อที่เสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย จะถูกเก็บภาษีในอัตราเพียง 0.1% ผลของมันต่างกันมากกับที่ประกาศตอนแรกว่าจะเก็บเต็มที่ในอัตรา 40% ของกำไรดอกเบี้ยสุทธิ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยจากส่วนไหนก็ตาม

ในวันถัดมา หุ้นธนาคารอิตาลีก็ฟื้นตัวรับข่าวที่ดีขึ้น

เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่การที่รัฐบาลจะเก็บภาษีใด ๆ นั้นจะต้องเจอแรงเสียดทาน เจอเสียงค้านจากฝ่ายที่จะเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทุนใหญ่ ทุนเล็ก นักลงทุนรายย่อย รวมถึงประชาชนทั่วไป

ดังนั้น การเก็บภาษีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ารัฐ “ใจไม่เด็ด” หรือไม่มีความเด็ดเดี่ยว-มุ่งมั่นมากพอ

การถอยของรัฐบาลอิตาลีที่ไม่ได้ถอยจนสุดซอย เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สามารถเรียนรู้และนำแบบอย่างมาใช้ได้