อิตาลีสั่งเก็บ “ภาษีลาภลอย” ธนาคาร 40% ของกำไรดอกเบี้ย 

อิตาลีเก็บภาษีลาภลอยธนาคาร

อิตาลีประกาศเก็บภาษีลาภลอยแบบเก็บครั้งเดียว 40% จากกำไรของธนาคาร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ได้รับประโยชน์จากนโยบายขึ้นดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลาง ทำให้มีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ 

เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมหาศาล 

ธนาคารมีผลกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธนาคารสามารถขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้มาก โดยไม่เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก 

ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการเรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีจากธนาคารมากขึ้น เพราะธนาคารได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐและความเดือดร้อนของประชาชน โดยที่ธนาคารไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรเพิ่มเติม ซึ่งภาษีลักษณะนี้เรียกกันว่า “ภาษีลาภลอย” (windfall tax) 

ล่าสุดมีประเทศหนึ่งที่ประกาศแล้วว่าจะเก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารในปีนี้ นั่นก็คืออิตาลี 

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2023 รัฐบาลอิตาลีได้อนุมัติการเก็บภาษีแบบเก็บครั้งเดียวอัตรา 40% ของผลกำไรที่ธนาคารได้รับจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และมีแผนจะนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้บ้าน ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ของรัฐบาลอิตาลีทำให้หุ้นธนาคารร่วงลง

อิตาลีจะเก็บภาษีนี้แบบครั้งเดียวในปี 2023 เท่านั้น โดยจะเก็บในอัตรา 40% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคาร กล่าวคือเก็บจากรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้หลังหักรายจ่ายของดอกเบี้ยเงินฝากออกไปแล้ว 

ทั้งนี้ รัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลีวิจารณ์ธนาคารหลายครั้งว่า ล้มเหลวในการส่งต่อดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปให้กับผู้ฝากเงิน แต่เพิ่งจะดำเนินการเรื่องการเก็บภาษี หลังจากที่เห็นธนาคารรายงานรายรับรอบล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม

“แค่มองไปที่ผลกำไรในครึ่งปีแรกของธนาคาร … ก็รู้ว่าเราไม่ได้พูดถึงเงินเพียงไม่กี่ล้าน แต่เป็นหลายพันล้าน” มัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Salvini) รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 

เขากล่าวอีกว่า เป็นความจริงใช่หรือไม่ว่า ภาระที่เกิดจากต้นทุนทางการเงินนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ แต่ดอกเบี้ยที่ผู้ถือบัญชีเงินฝากได้รับนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามไปด้วย และเขาสรุปว่ามี ช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

นักวิเคราะห์จากธนาคาร “แบงก์ ออฟ อเมริกา” (Bank of America) จากสหรัฐอเมริกาประเมินว่า รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2-3 พันล้านยูโร (ราว 76,790 ล้านบาท ถึง 115,000 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีนี้ ขณะที่ธนาคารต้องเสียค่าใช้จ่ายคิดเป็นประมาณ 2-9% ของรายได้ 

อัซซูร์รา กูเอลฟี (Azzurra Guelfi) นักวิเคราะห์ด้านการวิจัยหลักทรัพย์ของซิตี้ (Citi) บอกกับซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า ภาษีลาภลอยแบบจ่ายครั้งเดียวที่ธนาคารอิตาลีต้องจ่าย จะคิดเป็นประมาณ 19% ของกำไรสุทธิของธนาคารในปีนี้ โดยประเมินจากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากอิตาลีแล้ว มีบางประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น สเปนที่กำหนดอัตราชั่วคราวสำหรับปี 2023 และ 2024 ในอัตรา 4.8% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าคอมมิชชั่นสุทธิ และฮังการีที่กำหนดอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ ในปี 2022 และอัตรา 8% ในปี 2023 

ขณะที่ในสหราชอาณาจักรก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีนี้เช่นกัน อย่างในวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรประชุมตัดสินใจนโยบายการเงิน ก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปชุมนุมประท้วงการขึ้นดอกเบี้ย และเรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีจากธนาคารมากขึ้น แต่ตามรายงานของสื่อในอังกฤษ ยังไม่มีแนวโน้มมากนักว่าการเก็บภาษีลาภลอยจากธนาคารจะเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร