ลุยดึงดูดลงทุนครั้งใหญ่ ไม่ลืมมหามิตร “ญี่ปุ่น”

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจจัดอีเวนต์ใหญ่ครั้งที่ 4 ของปี แต่ละปีเราจัดงานแบบนี้ 5 ครั้ง บางปีมากกว่า ก่อนโควิดเคยสัญจรไปในหัวเมืองต่างจังหวัดด้วย บนความตั้งใจที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดมีโอกาสร่วมรับฟังมุมมองบิ๊กธุรกิจ และภาครัฐเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ

งานแต่ละครั้งเราตั้งใจออกแบบให้พิเศษ และแตกต่าง เช่นเดียวกับครั้งนี้ ด้วยการเชิญนักธุรกิจ นักคิด นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ร่วม 30 ท่าน มาร่วมในเซสชั่นพิเศษ “An Breakfast with The Prime Minister” ซึ่งต้องขอบคุณแขกรับเชิญ โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ให้เกียรติและสละเวลามาร่วมพูดคุยตั้งแต่เช้ามาก

เป็นการตอกย้ำสิ่งที่เคยพูดไว้ตอนรับตำแหน่งใหม่ ๆ ว่า “จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่ทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงประชาชน นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า”

เชื่อว่าผู้ที่ไปมีโอกาสไปร่วมงานในวันนั้นจะสัมผัสได้ถึงพลังความตั้งใจ และ speed to market ของท่านนายกฯได้

เซสชั่นสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” เชิญผู้บริหารบริษัทชั้นนำมาร่วมกันเปิดมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน และการขับเคลื่อนองค์กร ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทาย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “Next Chapter ประเทศไทย” ย้ำว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ก็สำคัญ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ตั้งใจจะทำให้ดีขึ้น “ผมจะไม่เคลมว่ารัฐบาลนี้ มี total absolute solution แต่จะเริ่มแก้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎ กติกาของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อะไรที่ทำได้จะทำก่อน ทำทันที ถ้าดีก็จะทำต่อ…เรื่องพักหนี้เกษตรกรใน 9 ปี พักไปแล้ว 13 ครั้งเป็นคำถามในใจผมเช่นกัน และไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่จำเป็นต้องพักเดี๋ยวนี้ เพราะเขาเดือดร้อนกันมาก การพักก็เพื่อให้มีขวัญกำลังใจไปทำงานต่อ ทำให้นโยบายรัฐบาลนำไปสู่การฟื้นฟูได้ด้วยการตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการออกไปเปิดตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ

“การไปประชุมยูเอ็นจีเอที่นิวยอร์กเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจกับทุกประเทศ เราจะมีผู้นำ มีคณะรัฐบาลที่เดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA หลายบริษัทให้ความสนใจ ทั้งไมโครซอฟท์ เทสลา กูเกิล บริษัทเทคใหญ่ ๆ จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านจะมีการคุยกันต่อที่เอเปคกลาง พ.ย.นี้ และคาดหวังว่าจะตกลงกันได้ในขั้นต้น”

นอกจากทะเล ภูเขา วัฒนธรรม และอาหารอร่อย ไทยยังมีโรงเรียนนานาชาติดี ๆ มีระบบการดูแลสุขภาพระดับโลก มีระบบอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ไทยน่าลงทุน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมสำหรับการยกระดับการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจะต้องมีแพ็กเกจสนับสนุนเพราะคงไม่สามารถพึ่งการเจริญเติบโตของจีดีพีภาคเกษตรอย่างเดียวได้

และที่สำคัญต้องไม่ลืมอีกหนึ่งมหาอำนาจ และเป็นมหามิตรที่มีการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศสูงที่สุดในไทยอย่าง “ญี่ปุ่น”

“ก็ได้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่บีโอไอว่า รัฐบาลนี้ไม่ลืมต้นน้ำ ไม่ลืมพระคุณรัฐบาลญี่ปุ่น หรือเอกชนญี่ปุ่นที่ช่วยเหลือเรามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา”

การสนับสนุนรถยนต์อีวีก็ต้องไปต่อ แต่ต้องเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเดิมให้อยู่ต่อได้อย่างน้อย 10-15 ปี

“ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาปอาจให้อินเซนทีฟบางประการเพื่อให้เขาย้ายฐานการผลิตมาที่นี่เพื่อส่งออก”

นายกฯเศรษฐาทิ้งท้ายว่า รัฐบาลพร้อมพูดคุยรับข้อเสนอแนะในการที่จะเปิดประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนครั้งใหญ่ อยากให้ทุกท่านช่วยกันออกไปพูด อะไรที่จะช่วยเหลือได้ เช่น “บิสซิเนส แมตชิ่ง” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลนี้ยินดีให้การสนับสนุน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ และว่า “การไปโรดโชว์สำคัญ จึงอยากเรียกร้องว่าให้เริ่มทำแผนกันได้แล้ว ช่วยกันออกไปพูดคุย ออกไปโฆษณาประเทศ”