เศรษฐกิจไทยปี’67 กับความท้าทายเชิงโครงสร้าง

เศรษฐกิจไทยปี’67
คอลัมน์ : แบงก์ชาติชวนคุย
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ในฉบับก่อนดิฉันได้ฉายภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกันไปแล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้น่าจะมีแรงขับเคลื่อนที่สมดุลขึ้นจากการส่งออกและการผลิตสินค้าที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเสริมทัพภาคการท่องเที่ยวที่จะยังฟื้นต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางข้างหน้ายังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก แบงก์ชาติชวนคุยฉบับนี้เลยอยากชวนทุกท่านมาร่วมส่องความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือได้อย่างทันการณ์

ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวมาแล้วระดับหนึ่ง เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านก็กลับมาอยู่ในระดับเทียบเท่า หรือสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ อย่างการบริโภคและรายได้ประชาชน แต่ในฝั่งอุปทาน ในส่วนของภาคการผลิตฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะการผลิตเพื่อนำไปส่งออก ตามการส่งออกสินค้าไปยังคู่ค้า โดยเฉพาะจีนที่ชะลอตัว และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก (Electronic Cycle) ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ นอกจากนี้ แม้ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังช้า นักท่องเที่ยวบางชาติ เช่น จีนลดลงจากอดีต รวมถึงรายจ่ายต่อหัวเริ่มลดลง

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า อุปสงค์สินค้าโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออกและการผลิตสินค้าของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมทัพภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นทดแทนนักท่องเที่ยวจีน แต่ไทยจะคว้าโอกาสหรือได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยด้านโครงสร้าง เช่น ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความสามารถในการปรับตัวของประเทศด้วย

ในภาพรวม เราอาจต้องยอมรับว่าไทยมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มากเท่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development หรือ IMD ในปี 2566 ที่ผ่านมา

ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ซึ่งแม้จะปรับดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน แต่หากไปดูข้อมูลในอดีตจะพบว่าเมื่อปี 2562 ไทยเคยอยู่ในอันดับที่ดีกว่านี้ คืออันดับที่ 25 โดยในปี 2566 ด้านที่ไทยยังมีอันดับไม่ดีนัก คือด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการศึกษา (Education) และด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment) ซึ่งเป็นรากฐานที่มีผลต่อศักยภาพและความน่าลงทุนของประเทศ

Advertisment

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและบริการของไทยในระยะหลัง ๆ เริ่มส่ออาการ “ติดหล่ม” จากปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในประเทศของไทยเอง

ปัจจัยเชิงโครงสร้างจากภายนอกไม่เพียงแต่กระทบไทย แต่ยังส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น (1) โครงสร้างการผลิตโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากนโยบายของจีนที่เน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้จีนหันมาผลิตสินค้าเพื่อใช้เองในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้จีนนำเข้าสินค้า 
เช่น ปิโตรเคมีจากทั่วโลกและไทยลดลง ซึ่งในปี 2565 เราส่งออกไปจีนสูงถึง 21% ของการส่งออกสินค้าชนิดนี้ทั้งหมด และ (2) พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป จากนโยบายของทางการจีนที่เร่งส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนยังมีความกังวลด้านความปลอดภัย จากกระแสภาพยนตร์และสื่อออนไลน์ที่ให้ภาพเชิงลบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวไทยและบางประเทศในอาเซียนด้วย

สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทยเอง มีทั้ง (1) การผลิตสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจทำให้ไทยหลุดจากห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ เช่น Hard Disk Drive (HDD) ที่ไทยเป็นฐานการผลิตและผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก (ในปี 2565 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้านี้สูงถึงเกือบ 20% ของการส่งออก HDD ทั่วโลก) ขณะที่ความต้องการสินค้าชนิดนี้สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปปรับลดลงมาก จากการถูกทดแทนด้วย Solid State Drive (SSD)

และ (2) การท่องเที่ยวที่ยังเน้นปริมาณ และขาดการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะที่คู่แข่งสำคัญในอาเซียน อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียมีการพัฒนาภาคท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังโควิด-19 โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ โดยเวียดนามวางแผนขยายการขนส่งทางรางอีก 9 สายภายในปี 2030 จากที่มีอยู่เดิม 7 สาย รวมถึงวางแผนขยายสนามบินเพิ่มขึ้นจาก 22 เป็น 29 แห่งภายในปี 2050 เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่พัฒนาการขนส่งทางราง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีนและญี่ปุ่น รวมถึงวางแผนสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 21 แห่ง ทั้งหมดนี้ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีทางเลือกในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มเห็นจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวปรับลดลง และส่งผลต่อรายได้ของภาคการท่องเที่ยวในระยะหลัง ๆ

Advertisment

ปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในนี้ เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ควรให้เร่งแก้ไข เพื่อช่วยให้ไทยหลุดพ้นก่อนจะติดหล่มลึกขึ้น จนบั่นทอนศักยภาพการเติบโต และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

การจะแก้ไขปัญหา แน่นอนว่าคงต้องอาศัยนโยบายจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Reform) อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการปรับตัวของภาคเอกชน และนโยบายการเงินจะช่วยในเรื่องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้การปรับตัวเป็นไปได้ราบรื่น และรักษามูลค่าการลงทุนของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายเชิงโครงสร้างและเติบโตได้อย่างยั่งยืน