สงคราม “ดิจิทัลคอมเมิร์ซ”

ดิจิทัลคอมเมิร์ซ
ภาพจาก : freepik
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ดิจิทัลแพลตฟอร์มได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทำให้เส้นแบ่งต่าง ๆ ลดลง และขยายโอกาสทางธุรกิจ ในช่วงวิกฤตโควิด ช่องทางออนไลน์ เปลี่ยนสถานะจากทางเลือก มาเป็น “ทางรอด” ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต้องมีหน้าร้าน อยู่ที่ไหนก็ขายของได้ เช่นกันกับผู้บริโภคที่จับจ่ายซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และอื่น ๆ อีกมากมาย

ในบ้านเรา นอกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่คุ้นเคยกันมานาน อย่าง “ช้อปปี้-ลาซาด้า” แล้ว อีกหนึ่งแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่มาแรงมาก ๆ คือ TikTok ที่ขยับขยายธุรกิจจากการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสู่สนามโซเชียลคอมเมิร์ซเต็มตัวด้วย TikTokShop

ภายใต้แนวคิด Shoppertainment ผสมผสาน “ความบันเทิง” กับ “การช็อปปิ้ง” เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อซึ่งอันที่จริงก็คิดไม่ต่างไปจากอีคอมเมิร์ซรุ่นพี่ “ลาซาด้า ช้อปปี้”

ในประเทศไทย “TikTok” เพิ่งประกาศแผนธุรกิจปี 2567 ชูแนวคิด “TikTok for All” หรือการเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงสำหรับทุกคน

ข้อมูล ณ เม.ย. 2566 มีผู้ใช้ TikTok ในภูมิภาคอาเซียน 325 ล้านคน มีผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม 15 ล้านราย

ถ้าเจาะลงมาที่ประเทศไทย “ชนิดา คล้ายพันธ์” Head of Public Policy TikTok ประเทศไทย เปิดเผยว่าในไทย มีครีเอเตอร์ กว่า 3 ล้านคนที่สร้างรายได้จาก TikTok และมีผู้ขายสินค้ากว่า 2.4 ล้านคน โดย 99% เป็นผู้ขายในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจาก TikTok

และในปี 2564 อุตสาหกรรมครีเอทีฟไทยมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.81% ของ GDP ประเทศ โดยในปี 2565 มีบุคลากรที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นถึง 963,549 คน สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมครีเอทีฟที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโต

“พิสุทธิ์ โรจน์เลิศจรรยา” Head of Operations TikTok ประเทศไทย เสริมว่า ปี 2566 คอนเทนต์ยอดนิยมยังอยู่ในกลุ่ม Entertainment, Food & Travel, Beauty & Fashion, Sport & Gaming และ Education ซึ่งในปีนี้ต้องการต่อ ยอดให้คอมมิวนิตี้บนแพลตฟอร์มแข็งแรงขึ้น ผ่านการสร้าง Entertainment Hub และเพิ่มฟีเจอร์ 1 Minute+ อำนวยความสะดวกในการสร้างวิดีโอยาวให้ครีเอเตอร์

โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าการรับชมวิดีโอที่ความยาวมากกว่า 1 นาที เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

“กรณิการ์ นิวัติศัยวงศ์” Head of FMCG, E-Commerce บริษัทเดียวกัน ระบุว่า TikTokShop ต้องการเป็นอีโคซิสเต็มอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนการค้นพบไปสู่การตัดสินใจซื้อให้ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ด้วยการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบ Infinity Loop ที่ใช้งานได้ราบรื่น ตั้งแต่การค้นพบไปจนถึงการพิจารณา การซื้อ และรีวิวแล้วกลับไปสู่การค้นพบอีกครั้ง

มีช่องทางการขาย ผ่าน Shopping Center, LIVE Shopping และ Video Shopping ซึ่งการเข้ามาซื้อสินค้ามีสัดส่วนในแต่ละช่องทางพอ ๆ กัน เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอางผู้ใช้ซื้อผ่านการรับชมคอนเทนต์มากกว่าช่องทางอื่นเล็กน้อย ขณะที่ของกินของใช้จะซื้อผ่านการเสิร์ชบน Shopping Center โดยตรง

“ชลธิชา งามกมลเลิศ” Head of Client Partnership TikTok ประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า จากผลการศึกษาของ TiKTok ยังพบด้วยว่า การรับชมคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยมากกว่า 70% ของผู้บริโภคพึ่งพาวิดีโอบน TikTok

การรุกคืบอย่างหนักของดิจิทัลแพลตฟอร์ม TikTok ในปีนี้จึงน่าจะทำให้สมรภูมิการแข่งขันในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซในบ้านเราร้อนระอุเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

น่าสนใจว่าผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะในอีกด้าน “ดิจิทัล” นำมาซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในหลายมิติ ดังเช่นที่ผู้ประกอบการ และพ่อค้าแม่ค้าคนไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเข้ามาของสินค้า และพ่อค้าแม่ค้าจากของประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ถ้าสู้กันที่ “ราคา” ก็ยากที่เราจะต่อกรได้