เอ็มโอยู 2544 JDA ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา ยังอีกยาวไกล

ไทย-กัมพูชา
ไทย-กัมพูชา

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Areas-OCA ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอีกครั้งระหว่างการเดินทางมาเยือนไทยของ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ โดยเรื่องของ OCA จะเป็น 1 ในหัวข้อที่นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศจะหารือกัน โดยฝ่ายไทยได้ตั้งความหวังเอาไว้สูงมากว่า

หากทั้ง 2 ประเทศสามารถตกลงในประเด็น OCA ที่ยืดเยื้อกันมากว่า 22 ปีแล้วก็จะเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่อีกแหล่งหนึ่งในบริเวณอ่าวไทย

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA)

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law of the Sea of 1982 หรือ UNCLOS กำหนดไว้ว่า ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตลอดแนวทอดยาวตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีปหรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น

รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในไหล่ทวีปของตนและผู้ใดจะดำเนินการเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งนั้นก่อน

กรณีกำหนดให้รัฐที่มีชายฝั่งทะเลตรงข้ามหรือประชิดกันต้องเจรจาจัดทำความตกลงการกำหนดขอบเขตทางทะเลระหว่างกันและในระหว่างที่การเจรจาความตกลงกำหนดขอบเขตทางทะเลยังไม่แล้วเสร็จ ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะจัดทำ ข้อตกลงชั่วคราว ที่มีลักษณะที่ปฏิบัติได้ระหว่างกันด้วยเจตนารมณ์แห่งความเข้าใจและความร่วมมือ

โดยปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ OCA เกิดขึ้นทันที เมื่อ กัมพูชา และ ไทย ต่างประกาศกำหนดเขต “ไหล่ทวีป” ของตัวเองในอ่าวไทย โดยกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2515 และไทยในปี 2516 หลังจากที่เริ่มเจรจาแบ่งเขตไหล่ทวีปกันมาตั้งแต่ปี 2513 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาใช้วิธีลากเส้นเริ่มจากจุดที่เรียกว่า หลักที่ 73 (หลักเขตแดนทางบกตามสันธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 1907) มาจดริมทะเล และลากตรงออกไปยังประมาณกลางขอบนอกด้านตะวันออกของ “เกาะกูด” ซึ่งเป็นของไทย จากนั้นจึงลากเส้นเขตไหล่ทวีปเริ่มต้นใหม่จากขอบนอกด้านตะวันตกของเกาะกูดในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตกจนเกือบถึงกึ่งกลางอ่าวไทย

ขณะที่ประเทศไทยได้ประกาศเส้นฐานตรงครั้งแรกใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเกาะช้าง บริเวณเกาะพะงัน บริเวณเกาะภูเก็ต และต่อมาประกาศเส้นฐานตรงในบริเวณเกาะโลซิน ในส่วนทะเลอาณาเขตได้ประกาศเขต 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานและประกาศเขตต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลเขตทวีปของประเทศไทยในอ่าวไทยและในส่วนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะประเทศไทยก็ประกาศ 200 ไมล์ทะเล การประกาศอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปของทั้ง 2 ประเทศในลักษณะของต่างคนต่างประกาศเมื่อเจรจาตกลงกันไม่ได้ส่งผลให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรขึ้นมาทันที

ไทย-กัมพูชา

MOU 44 ห้ามแยกเจรจา พท.ทับซ้อน

รัฐบาลไทย กับ รัฐบาลกัมพูชา จึงได้เปิดการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลหลายครั้ง (นับจากปี 2513) จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือที่เรียกกันว่า MOU 2544 โดย MOU ฉบับนี้จึงถือเป็น “ข้อตกลงชั่วคราว” ที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยเจตนารมณ์แห่งความเข้าใจและความร่วมมือที่ระบุไว้ใน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องของการปักปันเขตแดนทางทะเลที่มีปัญหาทับซ้อนกันอยู่

พื้นที่ทับซ้อนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยพื้นที่ส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เรียกว่า พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างจะอยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ในพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะเป็นลักษณะของพื้นที่ที่จะพัฒนาร่วมกัน หรือ Joint Development Area หรือ JDA นั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ในข้อ 2 ของ MOU 2544 กำหนดไว้ว่า “เป็นเจตนาของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้พร้อมกัน คือ 1) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมหรือพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา (พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง) กับ 2) การตกลงแบ่งเขต ซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต

นั้นหมายความว่า ภายใต้ MOU ฉบับนี้ รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะต้องเจรจาเพื่อหาข้อตกลงไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการแบ่งเขตทะเลอาณาเขตไหล่ทวีป-เขตเศรษฐกิจจำเพาะ กับการเจรจาในพื้นที่ที่จะพัฒนาร่วมกัน หรือ JDA ทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่สามารถจะแยกจากกันมิได้โดยเด็ดขาด

ปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม

เป็นที่เข้าใจกันดีว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ตั้งความหวังที่จะนำปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีราคาแพงในประเทศ อันเนื่องมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังมีปริมาณการผลิตที่ลดลงตามอายุของแหล่ง และยังไม่มี “แหล่งก๊าซ” ใหม่ ๆ ที่อยู่ในอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยมาทดแทนปริมาณก๊าซที่จะหายไปในอนาคตอันใกล้นี้ได้

ความหวังที่จะค้นหาแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวมีข้อเท็จจริงมาจากรายงานการสำรวจในปี 2548 ของ บริษัทเชฟรอนสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ทำการประเมินในพื้นที่ OCA ตอนใต้ของกัมพูชาพบทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท กับ 3.5 ล้านล้านบาท

ขณะที่รายงานการสำรวจทางธรณีวิทยา (Fact Sheet 2010-3015) ของสหรัฐ (USGS) ในเดือนมิถุนายน 2553 ก็ได้ให้ข้อมูลตำแหน่งของแอ่ง (Basin) ที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จำนวน 3 แอ่งด้วยกัน คือ แอ่ง Thai Cenozoic Basin ที่บริเวณด้านเหนือของอ่าวไทย, แอ่ง Thai Basin บริเวณด้านตะวันตกของอ่าวไทย โดยมีแอ่ง Pattani Basin เป็นแอ่งย่อย และแอ่ง Malay Basin อยู่บริเวณด้านใต้ของอ่าวไทย

ด้านสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเชื่อว่า จากลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า “แอ่งปัตตานี” จะมีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมันดิบ ในปริมาณสำรองที่ “ไม่น้อย” ไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลอ่าวไทยฝั่งอาณาเขตประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยและกัมพูชาจะต้องทำความตกลงเพื่อนำปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน หรือพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง) ขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ได้

แม้ว่ารัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถหาทางทำความตกลงที่จะพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง (JDA) ร่วมกันได้ แต่การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในแหล่งนี้อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะนำก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันขึ้นมาได้ โดยในประเด็นนี้มีตัวอย่างที่ดีจากการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย แม้จะสามารถตกลงกันได้ในปี 2522 แต่ต้องใช้เวลาอีก 26 ปีก่อนที่จะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้จริงในปี 2548

ไม่ง่ายที่จะใช้โมเดลพัฒนาร่วม JDA

เป็นเรื่องไม่ง่ายที่รัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อนำปิโตรเลียม ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่า “เรานั่งบนขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท” ขึ้นมาใช้ประโยชน์จากเหตุผลที่ว่า

1) MOU 2544 ได้กลายเป็นกรอบการเจรจาเพียงกรอบเดียวที่จะใช้หารือเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อน (OCA) กับรัฐบาลกัมพูชา ตามที่ได้ตกลงร่วมกันไว้

2) ใน MOU 2544 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเจรจาแบ่งเขตทะเลอาณาเขตไหล่ทวีป-เขตเศรษฐกิจจำเพาะ กับเขตพื้นที่ที่จะพัฒนาร่วมกัน หรือ JDA ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งความหวังไว้นั้น ไม่สามารถแบ่งแยกเด็ดขาดในการเจรจาได้

นั้นหมายความว่า รัฐบาลไทยจะแยกเจรจาเฉพาะ พื้นที่พัฒนาร่วมกัน (JDA) เพียงพื้นที่เดียวไม่ได้ หากไม่มีการแก้ไข MOU 2544 หรือ ทำความตกลงในกรอบการเจรจากันใหม่

3) ความเชื่อที่ว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาปิโตรเลียมในอ่าวไทยเพียงผู้เดียวจากการมีบริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจขุดเจาะ รวมไปถึงบริษัท ปตท.สผ. ที่เป็นแกนหลักในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปแล้ว

เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลกัมพูชาไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาบริษัทด้านพลังงานที่เข้ามารับสิทธิสำรวจขุดเจาะที่มาจากฝั่งรัฐบาลไทย จนมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแนวคิดที่จะขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมด้วยตนเอง