วิวาทะเรื่องอัตราดอกเบี้ย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี มติที่ประชุม กนง.แม้เสียงจะไม่เป็นเอกฉันท์ แต่มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ลดลง สวนทางกับความเห็นของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงผลการประชุม กนง.ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเหตุผลที่ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้แม้จะมีแนวโน้มขยายตัว “ชะลอลง” จากภาคการส่งออกและภาคการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า

รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยัง “ขยายตัวต่อเนื่อง” และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ จึงประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลง และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ ขณะที่กรรมการอีก 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านความเห็นของรัฐบาล ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กลับเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.50% เหลือ 2.25% เพราะยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยได้อีก ถ้ามีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นยังลดลงไปได้อีก และควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้

การไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเพราะห่วงเรื่องเงินเฟ้อ ข้อเท็จจริงก็คือ อัตราเงินเฟ้อได้ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว ทว่าอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นผลมาจากการลดราคาพลังงานของรัฐบาลจากการอุดหนุน และไม่สามารถจะอุดหนุนไปได้โดยตลอด

แต่ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่ปัจจุบันรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายเพียงอย่างเดียว งบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างน้อยถึงเดือนพฤษภาคม ดังนั้น การมีมาตรการด้านการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลงในระดับหนึ่ง

จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลในช่วงระยะเวลานี้ จำเป็นที่รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย จักต้องปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างออกมาแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยอ้างตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน