บูรณาการแก้ฝุ่น PM 2.5

PM 2.5
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ ฤดูฝุ่น อย่างเต็มตัว จากรายงานศูนย์แก้ไขมลพิษทางอากาศพบ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 กระจายอยู่ในพื้นที่มากกว่า 40 จังหวัด รวมทั้ง พท.เขตส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในภาคเหนือและภาคตะวันตกพบ จุดความร้อน หรือ Hotspot เพิ่มมากขึ้น โดยจุดความร้อนนี้เกิดจากการเผาหรือไฟป่า เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน

ประกอบกับเกิดความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ได้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมาเป็นระยะ ๆ ทำให้ฝุ่นละอองในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเบื้องบน ทำให้ค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้น ส่วนในกรุงเทพฯหากเกิดภาวะลมสงบ ไม่มีฝนตก ฝุ่นไม่ถูกพัดพาออกไป ค่าฝุ่นก็จะพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

เป็นที่เข้าใจกันดีว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ถึงขั้นเป็นวาระแห่งชาติ มีการเตรียมการบริหารจัดการฝุ่นมาตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 ด้วยการมอบอำนาจบริหารจัดการให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เนื่องจากสภาพปัญหาการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน พร้อมกับกำหนดเกณฑ์วัด (KPI) ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จว.จะต้องลดลง 40% กรุงเทพฯ 20% และภาคอีสาน 10%

การเปลี่ยนแปลงวิธีแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิธีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราขการจังหวัด บูรณาการร่วมภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ ประสบความสำเร็จในกรณีของเชียงใหม่ สามารถลดค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 อย่างเห็นได้ชัด โดยจังหวัดเข้าใจสภาพของปัญหาการเผาในพื้นที่ว่า มีความจำเป็นจากการประกอบอาชีพในที่สูงจึงไม่ได้ประกาศห้ามเผาอย่างเด็ดขาด

แต่ใช้วิธีชิงเผาก่อนในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าซ้ำซากหรือเผาอย่างมีหลักวิชาการพอกับควมต้องการและสภาพปัญหา ดูแลสอดส่องในชุมชนขอความร่วมมือ ติดตามลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด จนประสบความสำเร็จได้รับการยกย่องให้เชียงใหม่เป็นโมเดลตัวอย่างในการบริหารจัดการให้กับอีก 16 จังหวัดในภาคเหนือ

แต่การเกิดจุดความร้อนอันเนื่องมาจากการเผาไม่ได้เกิดเฉพาะใน ปท.เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดฝุ่นละอองที่มาจากการเผาข้ามแดนด้วย จากรายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า ในกัมพูชา-ลาว-เมียนมา เกิดจุดความร้อนหนาแน่นมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนในการลดพื้นที่การเผา หรือลดฝุ่น PM 2.5 จากกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง-รถยนต์เครื่องสันดาป-การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาลง จึงจะผ่านพ้นฤดูฝุ่น PM 2.5 ในปีนี้ไปได้