สภาพัฒน์แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/2566 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 3/2566 โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว

ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาดและการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9

โดยในไตรมาสที่ 4/2566 มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนจำนวน 910,163 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.3 เบิกจ่ายงบฯเหลื่อมปีจำนวน 53,621 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.0 และการเบิกจ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 188 ล้านบาท

รวมยอดเบิกจ่ายในไตรมาสนี้ ทั้งสิ้นจำนวน 963,972 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลลดลงร้อยละ 3.0 จากการลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 3/2566

ด้านการลงทุนก็ลดลงร้อยละ 0.4 จากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 3/2566 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.0 จากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่ 3/2566 ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 20.1 จากการลดลงร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่ 3/2566 โดยตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า

เศรษฐกิจไทยภาพรวมตลอดทั้งปี 2566 จะขยายตัวลดลงกว่าที่เคยประมาณการกันไว้ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ส่งผลให้โครงการลงทุนของภาครัฐลดลง ขณะที่รัฐบาลเองได้พยายามใช้เครื่องมือทางด้านการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจนหมดแล้ว จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือทางด้านการเงินเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวครั้งนี้ สศช.ได้แสดงความกังวลในเรื่องของหนี้ครัวเรือนและหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs ที่สูงมากจนเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกันในปัจจุบัน ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจึงควรที่ต้องพิจารณามาตรการด้านการเงินอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจัง

แต่ต้องระวังว่าเมื่อลดดอกเบี้ยแล้วจะต้องไม่ทำให้เกิดการก่อหนี้มากขึ้น ความเห็นของ สศช.ดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของรัฐบาลที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จักต้องรับฟังข้อเสนอแนะของ สศช. ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย