ต้องเคร่งครัดจัดสรรน้ำตามแผน

อ่างเก็บน้ำ
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเริ่มต้นฤดูร้อนปี พ.ศ. 2567 โดยกำหนดวันที่ 21 กุมภาพันธ์เป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน ตอนกลางวันบริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อนจะสิ้นสุดลงกลางเดือน พ.ค.

มีการคาดหมายฝนรายเดือนของประเทศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนกรกฎาคม 2567 พบว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนรวม “ต่ำกว่า” ค่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ยกเว้นตอนกลางและตอนล่างของภาคใต้ในเดือนพฤษภาคมที่จะมีปริมาณฝนรวม “สูงกว่า” ค่าปกติ

ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 2 แห่ง เกณฑ์น้ำดี 17 แห่ง เกณฑ์น้ำพอใช้ 14 แห่ง และเกณฑ์น้ำน้อย 2 แห่ง รวมปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 24,261 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51%

ด้านปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 435 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 3,116 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ในจำนวนนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” 30% อยู่ถึง 40 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคใต้ 12 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง และภาคตะวันตก 1 แห่ง

เฉพาะสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ล่าสุด ณ วันที่ 26 ก.พ. พบว่า ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลัก 4 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) รวมกัน 7,541 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ขณะที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก หรือเหลือวันละ 5-6 ล้าน ลบ.ม. และจะยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปริมาณฝนที่จะตกลงในประเทศทั้งลดลง และ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปกติมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรที่สำคัญในการใช้น้ำในฤดูแล้งนี้ นั่นก็คือ การปลูกข้าวนาปรังปี 2566/67 ตามแผนกำหนดไว้ที่ 5.80 ล้านไร่ แต่ในขณะนี้ปลูกไปแล้วถึง 8.47 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 96% ขณะที่การปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผนไม่ให้เกิน 3.03 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 5.68 ล้านไร่ และมีการเก็บเกี่ยวยังไม่ถึงล้านไร่ กลายเป็นความเสี่ยงที่ข้าวจะขาดน้ำ ผลผลิตเสียหาย เนื่องจากไม่มีน้ำจะส่งให้ จากความจำเป็นที่กรมชลประทานจะต้องเคร่งครัดจัดสรรปริมาณน้ำในแต่ละกิจกรรมไม่ให้เกินไปกว่าแผน เพื่อภาพรวมประเทศจะผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งนี้ไปให้ได้