เสียงที่ “แบงก์ชาติ” ไม่ได้ยิน

BANK
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ไม่ว่าเสียงเรียกร้องของประชาชน นักธุรกิจ หรือแม้แต่รัฐบาลจะดังสักแค่ไหน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนคนเป็น “หนี้” ลงบ้าง แต่ก็ไม่เป็นผลใด ๆ

ดังจะเห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด (10 เม.ย. 2567) ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ด้วยมติ 5 : 2

5 เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

นักวิเคราะห์หลายสำนักไม่ผิดคาดกับผลการประชุม กนง.รอบนี้ แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ที่แบงก์ชาติมองว่าเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น “ไม่เหมาะสม”

“ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ถึงกับบอกว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเลวร้าย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“การขึ้นดอกเบี้ยไม่ก่อให้เกิดผลดีด้านใดเลย ไม่มีเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ ไม่มีเงินเข้ามาซื้อพันธบัตร ค่าเงินก็ไม่แข็งค่า อาจบอกว่าช่วยกดให้เงินเฟ้อลงมา ที่ผ่านมาก็พูดเองว่าเงินเฟ้อลง เพราะรัฐบาลอุดหนุนพลังงาน มีการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน จึงสงสัยว่าขึ้นดอกเบี้ยทำไม ทั้งที่ไม่มีผลดีอะไร เศรษฐกิจก็แย่”

ฟากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “นรเทพ บุญเก็บ” เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สะท้อนว่า การตรึงอัตราดอกเบี้ยกระทบต้นทุนภาคเอกชนที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับเอกชนบางกลุ่มต้องปรับขึ้นค่าแรงจึงอาจเกิดปัญหาสภาพคล่อง คาดว่าบางรายจะไม่สามารถแบกภาระหนี้และดอกเบี้ยไหว เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาแน่นอน

“นายกฯเศรษฐาเพิ่งช่วยออกมาตรการ Digital Wallet 10,000 บาท กำลังจะดีขึ้นอยู่แล้ว แต่พอ กนง.ตรึงดอกเบี้ยไว้ทำให้เอกชนกังวลว่าถึงได้หมื่นบาทมาก็อาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากเท่าที่ควร เพราะประชาชนบางส่วนไม่มีอารมณ์จับจ่าย”

ไม่ใช่แต่รายย่อยที่เดือดร้อน

“ไพโรจน์ วัฒนวโรดม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์นสตาร์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่าปัญหาดอกเบี้ยแพงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะลูกค้าคนไทย ซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง

“กำลังซื้อส่วนใหญ่ของลูกค้าคนไทยไม่ใช่กลุ่มที่มีฐานะร่ำรวย ระดับราคาที่เลือกซื้อส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาททั้งนั้น แต่ปรากฏว่ามีแต่ข้อมูลนำเสนอว่าลูกค้า 3 ล้านคุณภาพเครดิตไม่ดี กู้ยาก มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงที่สุด ส่งผลกระทบให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง”

การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อดอกเบี้ยไม่ลดลง การพิจารณาสินเชื่อก็ตั้งการ์ดประเมินเครดิตสกอริ่งสูง ๆ คำถามคือ คนไทยส่วนใหญ่จะอยู่กันอย่างไร ฉะนั้น แบงก์ชาติและสถาบันการเงินควรออกมาช่วยเรื่องดอกเบี้ยพิเศษเพื่อช่วยให้กำลังซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทสามารถซื้อบ้านและขอสินเชื่อเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ได้จริง ๆ

นายไพโรจน์เสนอว่า 1.ต้องรณรงค์ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย เพราะถ้าดอกเบี้ยนโยบายไม่ลด แบงก์พาณิชย์ก็ไม่ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้ 2.รณรงค์เกี่ยวกับทุนสำรอง กรณีมีข้อสงสัยสินเชื่อจะเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ซึ่งแบงก์ชาติมีกฎเกณฑ์ให้แบงก์พาณิชย์ต้องสะสมเงินทุนสำรอง แต่ในทางปฏิบัติ แบงก์พาณิชย์ผลักภาระมาให้ผู้บริโภคหรือผู้กู้อยู่ดี ทำให้กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ออกมากำกับแบงก์พาณิชย์ สุดท้าย “ผู้กู้” รับกรรม เผชิญวิบากกรรมเสียดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กู้ไม่ผ่านมากขึ้น

ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุด ทำให้ประชาชนคนเป็นหนี้ทั้งหลายต้องผวากับสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังกันต่อไป