ว่าด้วยเรื่อง “ความเค็ม”

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผอ.สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยยี่ห้อดัง ในข้อหาว่ามีสารก่อมะเร็ง แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงครับ เป็นการห้ามนำเข้าเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น ไม่ได้ห้ามไปเสียทั้งหมด เป็นเพราะกระบวนการผลิตของโรงงานดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัยของ USFDA อาจจะก่อให้เกิดสารโบลูทินัมและสารฮีสตามีนในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแก้ไข

ความเค็มอีกเรื่อง กรมสรรพสามิตมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากสินค้าที่มีความเค็มและไขมันในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายสุขภาพ

โดยยึดแนวทางเดียวกับภาษีความหวาน เบื้องต้นจะให้เวลาผู้ประกอบการ 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ โดยจะเน้นเก็บจากอาหารที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรม สินค้าที่มีการบรรจุหีบห่อและระบุปริมาณโซเดียมชัดเจน เช่น ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ แต่ไม่รวมอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

ประเด็นนี้น่าสนใจครับ เพราะปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมติดเค็ม หรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยบริโภคโซเดียมสูงถึง 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน จากความต้องการ 2,000 มิลลิกรัมต่อวันมีคนไทยรับประทานเค็มแล้วก็เป็นโรคหัวใจ โรคไต และความดันสูง ถึงเกือบ 18 ล้านคน

นอกจากความเค็มแล้ว เรามักบริโภคอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีข้อมูลจากสภาข้อมูลอาหารนานาชาติ ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ชาวอเมริกันวัย 50 ปีขึ้นไป จำนวน 1,005 คน พบว่ากลุ่มคนวัยนี้กำลังให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี และเห็นด้วยว่ายังไม่สายเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น

ปัจจุบันประชากรในสหรัฐอเมริการาว 610,000 คน เสียชีวิตจากโรคหัวใจในทุก ๆ ปี และพบว่าปัญหาสุขภาพในเรื่องของการทำงานของหัวใจหลอดเลือด สมองและกล้ามเนื้อเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนอเมริกันในวัย 50 ปีขึ้นไป หันมาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของตนเอง เช่น การอ่านส่วนประกอบ และข้อมูลโภชนาการ เพื่อให้ทราบข้อมูลของสินค้ามากขึ้น

โดยร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างยืนยันว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากสินค้ามากขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทั้งยังจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารบางประเภท เช่น เกลือ น้ำตาล และไขมัน

นอกจากนี้ ยังลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นประโยชน์ลง หันมาบริโภคอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพทดแทนมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ หรือไร้ไขมัน เมล็ดธัญพืช และน้ำมันคุณภาพดี เป็นต้น

ผมคิดว่าแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานี้ เป็นแนวโน้มที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หากผู้ประกอบการไทยมองเห็นโอกาส ขยับตัวก่อน ริเริ่มก่อน ทั้งในการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์เดิม ลดเค็ม ลดหวาน ลดมัน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพ โดยแสดงข้อมูลบนฉลากสินค้าให้ชัดเจน เข้าใจง่าย จะทำให้เรามีแต้มต่อกว่าคู่แข่ง และก้าวไปไกลอย่างถูกทิศถูกทางแน่นอนครับ