บทเรียนหมื่นล้าน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

 

มอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ระยะทาง 96 กม. สร้างเชื่อม 4 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี

ที่รัฐบาล คสช.ไฟเขียวเงินลงทุน 55,620 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558

น่าจะเป็น “บทเรียนราคาแพง” ให้กับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ๆ เก็บไว้ดูเป็นตัวอย่างได้ไม่มากก็น้อย
เมื่อจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ควรจะตรวจสอบข้อมูลที่ศึกษาไว้เมื่อ 10 ปี ให้เป็นปัจจุบันก่อนชงเสนอ

ถึงโครงการจะไม่ล่มสลายเหมือนกรณี “โฮปเวลล์” ที่สร้างไม่เสร็จ เหลือแต่ซากให้ดูต่างหน้า

แต่มอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” อาจจะกลายเป็น “หมัน” หากโครงการไม่ได้รับการสะสางในเร็ววัน

โครงการนี้ “กรมทางหลวง” ซอยงานก่อสร้างออกเป็น 25 สัญญา เพื่อให้งานสร้างเสร็จได้เร็วตามแผน

เปิดประมูลเมื่อปี 2559 ปัจจุบันงานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้ากว่า 19% จากเป้า 72% ยังล่าช้าจากแผนงานอยู่มาก หากคิดเป็นระยะเวลาก็ร่วม ๆ 2 ปี

ติดหล่มการส่งมอบพื้นที่ จึงทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถเปิดไซต์งานได้ตลอดเส้นทาง เริ่มงานก่อสร้างได้เป็นช่วง ๆ

หลังเกิด “โป๊ะแตก” ค่าเวนคืนพุ่งทะยาน 14,217 ล้านบาท จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 19,637 ล้านบาท

กลายเป็นปัญหา “จุกอก” ให้กับบิ๊กกรมทางหลวง และรัฐบาลทหาร

เพราะไม่มีใครอยากจะเอาชื่อประทับตราอนุมัติงบประมาณของกรมทางหลวงที่ขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท

สำหรับจ่ายให้กับผู้ถูกเวนคืนที่ยังเหลือบานตะไท 3,000 ราย กระจายตลอดสายทาง แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่นครปฐม หลังราคาดีดขึ้นมา 10-15 เท่า ทั้งที่เป็นพื้นที่สวน ที่มรดก ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ จึงยังไม่มีใครกล้าตีเช็คจ่าย

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นการรีเช็กรายละเอียดระหว่างกรมทางหลวง และสำนักงบประมาณ ที่คณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนของแต่ละพื้นที่อนุมัติ ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา “กรมทางหลวง” พยายามลดวงเงินโครงการในภาพรวม ทั้งปรับ ทั้งโยก โปะค่าเวนคืน เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบก่อสร้าง ลดการเวนคืนพื้นที่ยังไม่จำเป็น ปรับแผนการใช้งบฯก่อสร้างค้างเบิกจ่ายปี 2561 ขอโอนจ่ายเป็นค่าเวนคืน ซึ่งสามารถประหยัดงบฯไปได้ 2,000 ล้านบาท จาก 19,637 ล้านบาท จะเหลือประมาณ 17,000 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุดภายในเดือนเมษายนนี้ สำนักงบประมาณเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ วงเงิน 2,500-3,000 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเวนคืนในพื้นที่ไม่มีปัญหาด้านราคาไปก่อน

เพื่อให้ผู้รับเหมาที่ตอนนี้หยุดงานไปกว่าครึ่งได้เปิดไซต์ก่อสร้าง ส่วนที่เหลือรอตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านราคา คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี

จากความล่าช้ามีการประเมินว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดใช้ เพราะกว่ากรมทางหลวงจะเวนคืนเสร็จ น่าจะเป็นภายในปี 2564 สร้างเสร็จปี 2566 เปิดใช้ปี 2568

วัดใจ “รัฐบาลทหาร” จะกล้าดับไฟค่าเวนคืนให้มอด ก่อนหมดวาระรัฐบาลหรือไม่

เพราะถ้าปล่อยล่วงเลยไป “รัฐบาลหน้า” ยังไม่รู้ว่าโปรเจ็กต์ที่ประทับตรามากับมือจะถูกรื้อหรือได้ไปต่อ