แก้ควันพิษ PM 2.5 ไฟไหม้ฟาง

(แฟ้มภาพ)

หลังปริมาณฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ปกคลุมหนาแน่นหลายพื้นที่ ทั้ง 4 มุมเมือง หลายวันติดต่อกัน ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯและปริมณฑล หายใจได้คล่องขึ้น เพราะฝุ่นควันเริ่มจาง คุณภาพอากาศจากที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เริ่มคลี่คลายดีขึ้น

แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่ามหันตภัยฝุ่นควันพิษจะไม่กลับมาสร้างปัญหาอีก เนื่องจากสภาพอากาศบวกกับฤดูกาลช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ถือเป็นช่วงเวลาที่ี่ฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 กับ PM 10 จะฟุ้งกระจายในอากาศมากขึ้นเป็นปกติเหมือนทุกปี

คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขที่ขอให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีโรคประจำตัว สวมหน้ากากอนามัย หากอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งจึงเป็นเรื่องต้องปฏิบัติ

แม้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ทุกภาคส่วนควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังไม่ให้โดนฝุ่นควันพิษที่องค์การอนามัยโลกจัดเป็นสารก่อโรคมะเร็ง ผ่านระบบทางเดินหายใจ สัมผัสร่างกาย หรือผิวหนัง

ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ อาทิ การแผ้วถางและเผาป่าหรือพื้นที่ทำการเกษตร เผาขยะ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จากการใช้ยวดยานพาหนะ ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของวิกฤตมลพิษฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เวลาผ่านเกือบปียังไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม

เพราะแม้รัฐบาลจะยกระดับความสำคัญเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกระดมสมองหาทางแก้ พร้อมออกมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แต่การขับเคลื่อนมาตรการไปสู่การปฏิบัติยังดำเนินไปในลักษณะไฟไหม้ฟาง เมื่อฝุ่นควันจางลงก็ค่อย ๆ เงียบหาย ไม่ต่างจากหลายเรื่องที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ

ขณะเดียวกันจากที่ปัญหาดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุและแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จึงต้องกำหนดแนวทาง และมาตรการป้องกันแก้ไขต่างกันด้วย อย่างหมอกควันพิษในภาคเหนือ ภาคใต้ ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจึงต้องหยิบยกประเด็นขึ้นขอความร่วมมือเพื่อนบ้านช่วยป้องกันแก้ไขด้วย

ส่วนฝุ่นควันพิษในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ การเผาขยะ ควันพิษจากโรงงาน และการก่อสร้าง ฯลฯ อาจต้องออกกฎกติกาควบคุมดูแลเข้มงวดเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ต้องเร่งทำแข่งกับเวลาก่อนหมอกควันพิษ ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงและขยายวงกว้างจะเข้าขั้นวิกฤต กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ลามถึงการท่องเที่ยว กับเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งระบบ