ศก.ดิ่งงบฯ ปี”63 เสี่ยงขาดดุลเพิ่ม

คอลัมน์ ดุลยธรรม

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

 

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และถูกบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 วันที่ 17 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พบว่า ยังขาดเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสงครามทางการค้า ขาดการรับมือความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่จำเป็นต้องมีโครงการหรืองบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

เท่ากับงบประมาณไม่ได้ถูกใช้ไปอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อบริหารประเทศแบบมองไปข้างหน้า ไม่ได้มุ่งสู่การแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศที่เผชิญ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การลดการผูกขาดเพิ่มการแข่งขัน ปัญหาความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความยากลำบากทางเศรษฐกิจและหนี้สินของประชาชนระดับฐานราก และการขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เนื่องจากงบประมาณจำนวนไม่น้อยถูกจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านบัตรสวัสดิการคนจน ใช้วิธีการแจกเงิน มากกว่ามาตรการแบบยั่งยืนในลักษณะสร้างงาน สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน เมื่อลงลึกในรายละเอียด งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

ส่วนรายจ่ายลงทุน มีจำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 21.6% เห็นได้ว่า งบประมาณปี”63 ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ งบฯลงทุนจึงมีสัดส่วนต่ำ เช่นเดียวกับโครงสร้างงบประมาณในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

การที่ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เอาจริงเอาใจในการปฏิรูประบบราชการ และการลดขนาดของหน่วยราชการ ยุบและเลิกหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจหรือไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว งบฯปี”63 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เพราะไม่ได้มีโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมาก ทั้งที่ขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การประมาณการรายได้จากการเก็บภาษีอาจสูงเกินไป อาจจะเกิดการขาดดุลมากกว่าที่คาดการณ์ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการทำให้เก็บภาษีได้น้อย รัฐบาลอาจสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 2.725 ล้านล้านบาท หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อาจแก้ไขได้โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเทคโนโลยี เพื่อติดตามให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ทำให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของการจัดสรรงบฯกลางพบว่า ได้รับการจัดสรรสูงเกินไปกว่า 5 แสนล้าน จุดอ่อนคือขาดรายละเอียดเรื่องโครงการการใช้เงินงบประมาณ ทั้งยังตรวจสอบการใช้เงินได้ยากขึ้น

อีกด้านหนึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการถูกปรับลดงบฯค่อนข้างมาก อย่างหน่วยงานรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ตั้งงบฯรวมกันที่ 8,684.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 13.23% ที่น่าสนใจคือ สำนักงานเลขาธิการสภา ถูกตัดงบฯในภาพรวมลงไป 18.47% ขณะที่หน่วยงานของศาล ประกอบด้วย สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งงบฯรวมกันที่ 20,234.9 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 10.49% โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับงบฯเพิ่ม 25.83%

พิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหม พบว่า ขอตั้งงบฯไว้ที่ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นเงิน 6,226.8 ล้านบาท (คิดเป็น 2.74%) โดยกองทัพบก ได้รับงบฯ 113,677.4 ล้านบาทมากที่สุด ทั้งที่จริง ๆ แล้วงบประมาณกลาโหมควรเน้นไปที่ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติจะดีกว่า โดยเฉพาะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ข้อสังเกตอีกประการคือ ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา การวิจัยและสาธารณสุข รวมทั้งควรมีโครงการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มหาวิทยาลัย 53 แห่ง ถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกปรับลดงบฯสูงสุดมากกว่า 1,000 ล้านบาทส่วนอีก 23 สถาบันถูกลดงบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพราะการปรับลดงบฯมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาขั้นสูงของประเทศได้