“บังกลาเทศ” ประเทศแห่งอ่าวเบงกอล ตลาดใหม่ที่ไทยไม่ควรพลาด

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม


บังกลาเทศ หรือ “ประเทศแห่งอ่าวเบงกอล” เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีพรมแดนติดอ่าวเบงกอล อินเดีย และเมียนมา แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ( LDCs) แต่อยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศและมีตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.86 และตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี

สืบเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ โดยเฉพาะการใช้ภาคการผลิตและบริการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการที่บังกลาเทศมีประชากรสูงถึง 160 ล้านคน หรืออันดับที่ 8 ของโลก โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ระดับค่าแรงต่ำ มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่มาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ถ่านหิน ทรัพยากรทางทะเล บังกลาเทศจึงเป็นตลาดแรงงานและตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ ส่งออกสินค้าสิ่งทอและปอ และส่งเสริมแรงงานไปทำงานในต่างประเทศบังกลาเทศยังดึงดูดต่อการลงทุน เพราะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP จาก 47 ประเทศทั่วโลก สินค้าส่งออกได้รับการยกเว้นหรือไม่ถูกเก็บภาษี มีทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเป็นประตูการค้าสู่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถานและประเทศตะวันออกกลางและประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) กว่า 57 ประเทศ

ทำให้บังกลาเทศเป็นประเทศเนื้อหอมในยุคเศรษฐกิจโลกถดถอยจากการกีดกันการค้าและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจที่ไทยไม่ควรพลาดจะกระชับสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน

บังกลาเทศมีนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ วิสัยทัศน์ 2021 (2564) มุ่งเน้นการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่ม GDP เป็นร้อยละ 10 ลดอัตราความยากจน (ลดจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนให้ได้ร้อยละ 15 ของทั้งหมด) และพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งยกระดับจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2564 จึงเร่งแสวงหาตลาดการค้า ขยายฐานการผลิต และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมีการปรับนโยบายเร่งกระตุ้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (ไม่มีข้อจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติ) มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย (look east) เช่น จีน ประเทศอาเซียน ปัจจุบันหลายประเทศสนใจทำการค้าและเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศ รวมถึงจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น มีนักลงทุนรายใหญ่ เช่น สหรัฐ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ในสาขาอุตสาหกรรม เช่น การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ, ก่อสร้าง, สาธารณูปโภค เครื่องหนัง, เสื้อผ้า ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค แปรรูปผลผลิตการเกษตร เป็นต้น

ไทยจึงควรแสวงโอกาสขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งพิจารณาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับบังกลาเทศ โดยปัจจุบันไทยจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (เปิดตลาดสินค้าเบื้องต้น 83 รายการ) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย อยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับปากีสถาน ศรีลังกา และกลุ่มสมาชิก BIMSTEC (7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย)

แม้ว่าไทยและบังกลาเทศจะยังไม่มีความตกลง FTA ระหว่างกัน แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมหากจะมีการจัดทำ FTA กับบังกลาเทศในอนาคต จึงอยู่ระหว่างศึกษา วิเคราะห์ประโยชน์ และผลกระทบเบื้องต้นเห็นว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับบังกลาเทศจะช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.068 การลงทุนจากต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.076 และการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.061

สินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ นม พืช ผักและผลไม้ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรกลไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเหล็ก ภาคบริการที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยว และโทรคมนาคม เป็นต้น

ทั้งนี้ ปี 2561 บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทยในตลาดโลก และอันดับ 3 ในเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้ารวม 1,259.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปบังกลาเทศ 1,200.21 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 59.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่าการค้ารวมของ 2 ประเทศ อยู่ที่ 729.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 668.18 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปูนซิเมนต์ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เหล็ก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น นำเข้า 60.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น