เมียนมาเปิดน่านฟ้า “แม่สอด”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

 

วันก่อนมีโอกาสไปเยือน “นครแม่สอด” 1 ใน 3 อำเภอ จังหวัดตาก

ที่ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” ปักหมุดเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี 2558

จากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก จะกลายเป็น “ดาวอับแสง”

หลังนักลงทุนเข้าไปปักหมุดไม่คึกคักอย่างที่หวัง ติดปัญหาราคาที่ดินแพงหูฉี่ จนจับแทบไม่ลง

แถมสิทธิประโยชน์การลงทุนต่าง ๆ ก็ไม่จูงใจเท่ากับฝั่งประเทศเมียนมา

ผิดกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ตอนนี้พื้นที่เริ่มจรัสแสง

พลันที่กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร จับปากกาเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท

แม้ในทางปฏิบัติจะยังไม่ตอกเข็มในทันที แต่ก็เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติได้ไม่มากก็น้อย

ปัญหาเศรษฐกิจพิเศษตากอยู่ตรงไหน ทำไมถึงยังไม่ปัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” คงต้องหยิบมาทบทวน

ทั้งที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ เพราะอยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor เชื่อมโยงฐานการผลิตร่วมกับเขตเศรษฐกิจการค้าเมียวดีและเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนตอนใต้ได้

ขณะที่ดัชนีการค้าระหว่างชายแดนไทย-เมียนมาก็มีมูลค่าสูงถึง 1.9 แสนล้านบาทต่อปี เฉพาะด่านพรมแดนแม่สอดก็สูงลิ่ว 78,000 ล้านบาทต่อปี

และปีนี้มีแนวโน้มจะทะยาน 1 แสนล้านบาท หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เชื่อมการค้า-ขนส่ง ผ่านแม่น้ำเมย บริเวณตำบลสายลวด อำเภอแม่สอด กับตองยิน เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี

วันนี้ “สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2” สร้างเสร็จเปิดใช้แล้วเมื่อ 30 ต.ค. 2562

หลังรัฐบาลอัดงบประมาณ 4,132 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงก่อสร้างสะพาน และตัดถนนใหม่เชื่อมต่อกับถนนสาย 12 ตาก-แม่สอด เปิดโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสายใหม่ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษตากเมื่อหลายปีก่อน

ตอนนี้สภาพที่ดินสองข้างทางที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังไม่เห็นการพัฒนาใหม่ ๆ ยังคงเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อสะพานเปิดใช้แล้ว จะเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนลงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตากให้คึก

ในส่วนของโหมดอากาศ “สนามบินแม่สอด” ก็ได้รับงบประมาณ 1,410 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินเป็นนานาชาติ เปิดน่านฟ้าแม่สอดเชื่อมโยงไปยังจุดอื่นในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จีน และพม่า หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแรง

ปัจจุบันอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เปิดใช้แล้ว มีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 600 คนต่อชั่วโมง หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี ภายในมีบริการเกือบจะครบครัน ทั้ง 7-11 กาแฟมวลชน แบล็กแคนยอน บริการรถเช่า

ส่วนลานจอดอากาศยานก็เสร็จแล้วเช่นกัน พร้อมรองรับเครื่องบิน B737 ได้ 3 ลำในเวลาเดียวกัน

ยังเหลือต่อขยายความยาวรันเวย์ เป็น 2,100 เมตร ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 44% จะเสร็จภายในปี 2563

ปัจจุบันมีเฉพาะสายการบินในประเทศมาใช้บริการ โดย “สายการบินนกแอร์” เปิดบินเส้นทางกรุงเทพฯ-แม่สอด-กรุงเทพฯ วันละ 5 เที่ยวบิน ผู้โดยสารมีทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนที่มาใช้บริการคึกคัก

หลังนักลงทุนจีนเข้าไปปักหมุด “โก๊กโก่” ฝั่งประเทศเมียนมา รัฐกะเหรี่ยง พัฒนาเป็นเมืองใหม่ครบเครื่องทั้งบันเทิง การค้า ลงทุน ขนส่ง และท่องเที่ยว

ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ หลัง “นกแอร์” ยุติเส้นทางบินจาก “แม่สอด-ย่างกุ้ง-แม่สอด” ไปตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2561

ล่าสุด สายการบิน Air KBZ (K7) ของประเทศเมียนมา ได้ขอทำการบินย่างกุ้ง-แม่สอด-ย่างกุ้ง จะเริ่มบินวันที่ 1 ธ.ค. 2562-วันที่ 28 มี.ค. 2563

ทำการบินทุกวันอังคารและพฤหัสบดี เวลา 11.00 น. กับ 11.45 น. โดยใช้เครื่อง ATR 72 ที่นั่ง

รับสนามบินนานาชาติแม่สอดโฉมใหม่ที่ทั้งไฉไลและใหญ่กว่าเดิม