ท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้าน ถึง “จุดจบ” อย่างแท้จริง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ 
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ยอมรับว่านาทีนี้เริ่มใจคอไม่ดีแทนกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย เพราะถึงวันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยยังไร้ซึ่งสัญญาณบวก และที่หนักคือ ดูเหมือนว่าจะมีแต่ “ปัจจับลบ” และต้องพึ่งพาตัวเอง เพราะ

1.ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบลูกจ้างเองแล้ว เพราะหมดเวลา 3 เดือนที่ประกันสังคมจ่ายชดเชยค่าแรงงาน 62% ให้ลูกจ้างแล้ว

2.แม้รัฐจะออกซอฟต์โลนมาอุ้มครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในสภาพความเป็นจริงผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงซอฟต์โลนเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น และ 3.เกือบ 100% ของผู้ประกอบการ “เงินทุนสำรอง” และ “กระแสเงินสด” หมดตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่เกิดโควิดแล้ว

ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มี “ชีวิต” แต่แทบไม่เหลือ “ความหวัง” แล้ว ที่สำคัญ ไวรัสโควิดนั้นลากยาวกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้ และยังยากที่จะประเมินถึงจุดจบ ยิ่งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิด “น่านฟ้า” ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาได้เมื่อไหร่ “ความหวัง” ของผู้ประกอบการยิ่งมืดมิด

เพราะอะไร? คำตอบคือ ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ลงทุนรองรับนักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” เป็นหลัก โดยคำนวณจากแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ปีละ 8% บ้าง 10% บ้าง

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทั้งหมด หรือมากกว่า 70% ของภาพรวม นั่นหมายความว่า “ซัพพลาย” ในทุกเซ็กเตอร์เหลือมหาศาล ซึ่งในช่วงก่อนที่ไวรัสโควิดจะมาเยือน “ซัพพลาย” ในเมืองท่องเที่ยวหลักก็ล้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การหันมากระตุ้นให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศนั้นต่อให้จัดหนักแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าชดเชยไม่ได้ ช่วยได้ก็เพียงแค่ “ประคอง” เท่านั้น

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศทั้ง 2 โครงการในขณะนี้ดูเหมือนจะดี แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ช่วยได้เพียงแค่บางเซ็กเตอร์เท่านั้น

โดยกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์หลัก ๆ จากทั้ง 2 โครงการคือ โรงแรม, รถนำเที่ยว, ร้านอาหาร เท่านั้น

ส่วนบริษัททัวร์แทบจะไม่ได้รับอานิสงส์เลย แม้ว่าโครงการ “กำลังใจ” จะระบุว่าให้เดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากถอดใจ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ?

จากที่คุยกับ “ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่าจากนี้ไปจะเห็นธุรกิจทยอยปิดตัวลงเรื่อย ๆ เพราะขาดสภาพคล่อง ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว บริษัททัวร์ ฯลฯ

และไม่มีทางที่รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท จากที่เคยทำรายได้ถึง 3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา

และปัญหาที่จะตามมาคือ แรงงานในภาคท่องเที่ยวจะต้องตกงานอีกมหาศาล ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้วก็จะยิ่งดีดตัวสูงขึ้นไปอีก

ปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวถาวร แรงงานตกงานเพิ่มเรื่อย ๆ นี้ จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาท กำลังจะถึงจุดจบ และ “ล้มละลาย” อย่างแท้จริง