เปิดข้อมูล “สะพานไทย” 9.9 แสนล้าน

บทบรรณาธิการ

สาธารณชนแปลกใจและงุนงงไม่น้อย ที่จู่ ๆ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในหลักการโครงการสะพานไทย มูลค่าลงทุน 9.9 แสนล้านบาท เชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)

เป็นอีกเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลจะผลักดัน พร้อม ๆ โครงการท่าเรือบก (Dryport) ที่จะร่วมดำเนินการกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และจีน และโครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน หรือท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land Bridge ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ

แม้ชื่อจะคล้ายกับโครงการคลองไทย (Thai Canal) กลายพันธุ์มาจาก “ขอคอดกระ” ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยเคยสำรวจศึกษา ถูกเปลี่ยนชื่อ ปรับแนวเส้นทาง ล่าสุดใช้แนว 9A จาก อ.สิเกา จ.ตรัง ถึงอ่าวไทยที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ต้องใช้งบฯลงทุนมหาศาล 2.29 ล้านล้านบาท แต่เป็นคนละโครงการ คนละพื้นที่

“สะพานไทย” มีที่มาจากไหนยังไม่มีคำอธิบายชัด แต่ถูกบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ก่อนส่งต่อเข้าที่ประชุม กพอ. เมื่อ 5 ต.ค. 2563 โดยชี้แจงแบบสรุปรวบรัดว่า เป็นโครงการที่จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ รวมทั้งเชื่อม EEC กับ SEC ทางภาคใต้ตอนบน

รูปแบบโครงการจะก่อสร้างทางรถยนต์ขนาดความกว้าง 4 ช่องจราจร และไหล่ทาง เชื่อมฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน ระหว่าง จ.ชลบุรี กับ จ.เพชรบุรี ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร โดยจะก่อสร้างสะพาน ก่อนลงสู่อุโมงค์ลอดใต้ทะเล 20-30 กิโลเมตร และโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเลบนเกาะเทียม 2 เกาะ ทั้งในฝั่ง จ.ชลบุรี และฝั่ง จ.เพชรบุรี

จากนี้ไปจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจ้างที่ปรึกษา ใช้เวลาศึกษา 1 ปี เตรียมการ 5 ปี และก่อสร้าง 7 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะทางไม่ต้องอ้อมอ่าวไทย 400 กิโลเมตร ลดระยะเวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง

แม้ยังอีกยาวไกลกว่าจะรู้ว่า “สะพานไทย” จะเกิดได้เป็นรูปธรรมหรือไม่ แต่ถ้าช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ลดต้นทุนขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังไปภาคใต้ ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจได้จริง ทุกภาคส่วนก็ควรสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนอภิมหาโปรเจ็กต์มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทุกขั้นตอนต้องเปิดเผยโปร่งใส จะได้ไม่ถูกตั้งคำถาม ข้อสงสัย ว่าแผนลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านบาทเหมาะสม คุ้มค่า มากน้อยเพียงใด