‘วัคซีน’ โควิดมาแล้ว ต่างชาติแห่ลงทุน-เที่ยวไทยจริงหรือ

ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบปะนักธุรกิจ และประธานหอการค้าหลายจังหวัด ในงานประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 แต่ละจังหวัดล้วนมีมิติ และบริบทของปัญหาภายในจังหวัด ในแต่ละภาคแตกต่างกัน

หลายจังหวัดเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงไตรมาส 4 เริ่มปรับตัวดีขึ้น และคิดว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า ทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจภายในจังหวัดที่ผ่านมาไม่ได้พึ่งพารายได้จากต่างชาติ

พร้อมชื่นชม “โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงเป้ามากกว่าโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมา

เพราะเม็ดเงินกระจายลงไปยังประชาชนทั่วไปได้อย่างดี “แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย” ต่างได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า

ดังนั้น ทุกจังหวัดจึงประสานเสียงให้รัฐบาลดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” ต่อ ผ่านเป็น 1 ในอีกหลายปัญหาที่บรรจุในสมุดปกขาวที่ยื่นถึงรัฐบาล

แต่บางจังหวัดเศรษฐกิจที่เริ่มโงหัวขึ้น แค่ทำให้ตัวเลขติดลบน้อยลงเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า เดิมเคยติดลบ 90% วันนี้ติดลบเพียง 60-70% หากเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ถือเป็นภาวะดิ่งตกต่ำสุด ๆ ของภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพารายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบอกว่า โครงการคนละครึ่งอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า

แต่สิ่งที่หลายคนหนักใจมากตอนนี้ คือ ภาวะขาดทุน ภาระหนี้สินของผู้ประกอบการรายกลาง และรายย่อย หรือ SMEs ที่พอกพูนขึ้น

ขณะที่โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของภาครัฐที่ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ให้ลูกค้าพักการจ่ายหนี้ ครบกำหนด 6 เดือนไปแล้วตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม 2563

ส่งผลให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคบริการกำลังจะหมดลม ! ต้องกลับมาแบกรับภาระการจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยแบงก์ต่อ ขณะที่รายรับยังไม่เข้ามา

ที่สำคัญ หลายคนพูดตรงกันว่า หาก SMEs เหล่านี้ “ล้ม” ! โอกาสที่จะ “ฟื้นกลับ” มา ยากเต็มที !

ดังนั้น หลายจังหวัดจึงเรียกร้องตรงกันในการขอพักชำระหนี้ต่อออกไปอีกสักระยะหนึ่ง อาจจะ 3-6 เดือน รอให้ได้ลืมตาอ้าปากได้ก่อน

เพราะขณะนี้ “เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ” หรือ soft loan ดอกเบี้ย 2% ที่รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยเหลือนั้น หลายจังหวัดให้ข้อมูลตรงกันว่า SMEs ส่วนใหญ่ “เข้าถึงยาก” มีเพียงส่วนน้อยมากที่ได้รับการช่วยเหลือ

จึงอยากให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้มีเงินไปหมุนเวียนธุรกิจบ้าง

มิเช่นนั้น หากธุรกิจ SMEs เหล่านี้ล้มอีกระลอกใหญ่ ! พนักงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านั้น รวมถึงพนักงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่ ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการทั่วประเทศ จะมีโอกาส “ตกงาน” เพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้อีกจำนวนมาก

ทุกคนยอมรับว่า ตอนนี้กลไกการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ มาจากเงินลงทุนของภาครัฐ ที่ส่งผ่านเม็ดเงินโดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ

ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีให้เห็นบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เพราะปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังหนักหนาสาหัส จึงชะลอลงทุนอย่างระมัดระวัง

แม้หลายบริษัทในต่างประเทศคิดค้น “วัคซีน” สำเร็จออกมาแล้ว แต่อย่าลืมว่า ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศได้รับ ทำให้มีคนว่างงาน เศรษฐกิจล้มซวนเซ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทย

ดังนั้น การที่คนต่างชาติพร้อมหอบเงินมา “ลงทุน” มา “ท่องเที่ยว” ในประเทศไทยได้อย่างเหลือเฟือ อาจมีเพียงส่วนน้อย ยิ่งมี “ม็อบ” กระหึ่มกันวันเว้น 2 วันด้วยแล้ว

แหล่งข่าวหลายคนยังบอกตรงกัน ช่วงจีนเกิดโควิด “ทุนญี่ปุ่น” หลายรายย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ไปประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามจำนวนมาก ไม่เลือกมาไทย เพราะมีหลายปัจจัยเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อผู้ลงทุนด้วย

ส่วนด้านนักท่องเที่ยว ได้คุยกับผู้ประกอบการรายหนึ่งเล่าว่า ทัวร์จีนจำนวนมากที่มาท่องเที่ยวกัน ส่วนใหญ่เป็นคนฐานะปานกลาง วัยทำงาน กว่าคนเหล่านี้จะเก็บเงินกลับมาท่องเที่ยวเมืองไทยได้ คงต้องใช้เวลา เพราะเศรษฐกิจจีนก็ย่ำแย่เช่นเดียวกัน

ภาพสวยหรูที่หลายคนมองว่า เมื่อมีวัคซีนแล้ว ต่างชาติจะแห่กลับมา “ลงทุน” แห่มา “ท่องเที่ยว” ประเทศไทยจำนวนมากภายในกลางปีหน้า หรือปลายปีหน้า อาจจะเร็วเกินไปหรือไม่

สำหรับสายตาของนักธุรกิจอีกหลายคนที่มองกันว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากว่าเศรษฐกิจจะฟื้นดีดกลับมา และคงไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แน่นอน !