นิติทัศน์ระบบเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัลในประเทศไทย (2)

แอดมิน
คอลัมน์ ระดมสมอง
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดประเภทกฎหมายดิจิทัลของไทย จากมุมมองเชิงกว้างผ่านโครงสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล และได้แนะนำกฎหมายใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดและรับรองสิทธิและหน้าที่พื้นฐานของประชาชนและนิติบุคคลเอกชนไปแล้ว สำหรับบทความในตอนนี้จะขอกล่าวถึงกฎหมายอีก 2 กลุ่มที่มีบทบาทโดยตรงในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ (ข้อ 3-4)

3.โครงสร้างและรากฐานระบบสาธารณูปโภคดิจิทัล

กฎหมายกลุ่มนี้ต่างจากกฎหมาย 2 ประเภทแรก ซึ่งเป็นกฎหมายอำนวยความสะดวกให้การดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในโลกดิจิทัลเป็นไปได้อย่างราบรื่น (enabling laws) ตรงที่เป็นเสมือนโครงสร้างและรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (structural laws) ไม่ว่าจะเป็นการบัญญัติกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการบริหารจัดการระบบและบริการชำระเงิน ทั้งการชำระแบบมีตัวกลางและการชำระเงินโดยตรงระหว่างคู่สัญญาผ่านระบบหรือแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ทำหน้าที่บัญญัติกฎกติกาต่าง ๆ ในเรื่องนี้

และยังมีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างระบบการเงินการธนาคารที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยข้อมูลและประวัติทางการเงินของผู้ใช้งานระบบการเงินที่ครบถ้วนและทันสมัยอยู่เสมอ

นอกจากนั้น โครงสร้างด้านดิจิทัลของระบบการเงินการธนาคารแล้ว การจัดให้มีระบบตรวจสอบ พิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อใช้เป็นบัตรผ่าน (passporting scheme) ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในโลกออนไลน์มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งผู้ใช้งานและผู้ประกอบการ หลักการสำคัญของการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลคือวิธีการและเทคโนโลยีที่ใช้ต้องมีความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกันกับการยืนยันตัวตนทางกายภาพ

ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการยืนยันตัวตนดิจิทัลอยู่ 2 บริการหลัก ได้แก่ บริการ Open ID ซึ่งเป็นบริการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าถึงการให้บริการของรัฐผ่านระบบดิจิทัล โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นผู้พัฒนาและให้บริการ มีบริการ NDID หรือ National Digital ID ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างบริการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

ทั้งนี้ เพื่อให้บริการยืนยันตัวตนดิจิทัลมีมาตรฐานและได้รับความน่าเชื่อถือ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการและสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางการอนุญาตและการกำกับดูแลธุรกิจบริการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการเฉพาะ

4.ระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนดิจิทัล

ระบบตลาดเงินและตลาดทุนเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (technological disruption) อย่างรุนแรง และเกิดขึ้นรวดเร็วก่อนภาคส่วนทางเศรษฐกิจอื่น ทั้งนี้ เพราะสินค้าและบริการทางการเงินมีลักษณะเฉพาะเหมาะแก่การเสนอขายและให้บริการบนระบบดิจิทัลกล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น หลักทรัพย์ เป็นต้น มีลักษณะเป็นหน่วยนับได้เท่ากัน (fungible) ใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างมูลค่า (data-driven)

และใช้ความเร็วและความถูกต้องของการทำนิติกรรมในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (economy of speed) ดังนั้น ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคการเงินและตลาดทุนของประเทศไทย มีการปรับตัวเพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจและการกำกับดูแลมาเป็นเวลานานแล้ว

นอกจากนั้น กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจนี้สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว ประการแรก คือ กฎหมายที่บังคับใช้มีความยืดหยุ่นและมีลักษณะเป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐแบบกว้าง (broad discretion) เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกติกาได้ตามรูปแบบของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ข้อ 5 และข้อ 8 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515

ซึ่งบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงกิจการทางการเงินต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (nonbank financial institutions) แม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีข้อดี แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายเก่าที่ตราขึ้นในช่วงที่เวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ ตามหลักการของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป

ประการที่สอง คือ กฎหมายที่วางรากฐานระบบการเงินและตลาดทุนมักพัฒนาบนแบบหลักทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ทำให้แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ พื้นฐานของธุรกิจกลับไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม เช่น พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอแรนซีและโทเคนดิจิทัล)

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเหล่านี้กลับมีลักษณะคล้ายคลึงกับธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ ตลาดหรือแพลตฟอร์มซื้อขาย (trading platform) นายหน้า (broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) นอกจากนั้นกฎหมายตลาดทุนดิจิทัลยังตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานเดียวกันกับกฎหมายหลักทรัพย์กล่าวคือ แนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนรับทราบในช่วงเวลาที่เหมาะสม (timely disclosure of material information)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดและหลักการดังกล่าวมีที่มาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นการออกกฎหมายเพื่อลดความฝืดเคืองของตลาด (market friction) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังวิกฤตการเงินโลกเมื่อ พ.ศ. 2550-2551 ที่ผ่านมา (Global Recession of 2007-2008) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและติดตามแนวความคิดเชิงโครงสร้างของระบบการเงินและตลาดทุนโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

หลังจากที่ได้นำเสนอกฎหมายดิจิทัล 4 ประเภทแรกไปแล้ว ท่านผู้อ่านอาจสังเกตเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้เน้นบทบาทของภาครัฐมากนัก ในครั้งหน้าผู้เขียนจะขอนำเสนอกฎหมาย 2 กลุ่มสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบาทของภาครัฐในระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล