‘อะลูมิเนียม’ ทางเลือกใหม่กับอุตสาหกรรมรักษ์โลก

คอลัมน์ แตกประเด็นธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการลดปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ขึ้นมาใหม่ 17 เป้าหมาย ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี

ทั้ง 17 ข้อ สะท้อนเสาหลักของมิติความยั่งยืน คือ มิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม บวกกับอีก 2 มิติ คือ มิติสันติภาพและสถาบัน และมิติเรื่องหุ้นส่วนการพัฒนาที่เป็นการเชื่อมร้อยทุกมิติไว้ด้วยกัน รวมเป็น 5 มิติ

มิติที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่สุดน่าจะเป็นมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการกำหนดแผนความยั่งยืนไว้ในพันธกิจขององค์กร โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ประกอบไปด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมนั้น แต่ละกลุ่มต่างก็มีแผนพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนเช่นเดียวกัน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเองได้พิจารณาใน 17 เป้าหมายแล้ว มีอย่างน้อย 7 เป้าหมายที่อะลูมิเนียมมีส่วนร่วมให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ที่สำคัญเเละเป็น 1 ใน 17 เป้าหมาย คือ เรื่องการเปลี่ยนเเปลงทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทั้งญี่ปุ่นเเละเกาหลีใต้ทยอยประกาศว่าจะทำให้คาร์บอนฟุตพรินต์เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเเละฝรั่งเศสจะเดินตามทิศทางนี้

หรือทำให้เวลาสั้นลงสำหรับประเทศไทยตามกำหนดการร่าง พ.ร.บ.เรื่องการเปลี่ยนเเปลงทางภูมิศาสตร์น่าจะเสร็จภายในปีนี้ เเละมีผลบังคับใช้ในเวลาอีกไม่นาน

สำหรับอะลูมิเนียมนั้น มีคุณสมบัติเด่นถึง 13 ประการ คือ นำไฟฟ้าเเละความร้อนได้ดี ตลอดจนสะท้อนเเสงหรือความร้อนได้ดี ล้วนมีส่วนช่วยให้ลดการใช้พลังงาน ส่วนเรื่องน้ำหนักเบา ทำให้ถูกนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน เรือ และรถอีวี เพื่อช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งจะทำให้ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังนำมาทำอุปกรณ์ทางการเเพทย์สำหรับผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอะลูมิเนียมนำไปรีไซเคิลได้ง่าย เช่น มีผู้ผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมในประเทศไทยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ผลิตอะลูมิเนียมเเผ่นม้วนป้อนโรงงานทำกระป๋องเเห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมทั้งมีโรงงานที่สามารถนำกระป๋องใช้เเล้วมาผ่านกระบวนการดึงสารเคลือบออก เเล้วป้อนกลับคืนให้ผู้ผลิตอะลูมิเนียมเเผ่นม้วน เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) สมบูรณ์แบบเเห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยลดการใช้พลังงานถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับนำแท่งอะลูมิเนียมปฐมภูมิ (primary ingot) มาใช้ เเละลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

จากนี้ไปจะเห็นทิศทางความต้องการ renewable energy มากขึ้น อะลูมิเนียมจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ เเหล่งกักเก็บพลังงาน สถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงนอกจากภูมิอากาศเปลี่ยนเเปลงเนื่องจากภาวะโลกร้อนเเล้ว ยังมีมลพิษทางทะเล ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทาย และไม่ต้องการให้เกิดการทิ้งลงเเหล่งน้ำซึ่งจะไหลลงสู่ทะเล ดังนั้น วัสดุเหล่านั้นต้องมีคุณค่าหรือราคาพอที่จะถูกเก็บเเล้วนำกลับมาในระบบก่อนทิ้งลงสู่เเหล่งน้ำ ซึ่งพบว่า อะลูมิเนียมเป็นวัสดุประเภทต้น ๆ ที่จะถูกเก็บกลับมาสู่ระบบ มูลค่ากระป๋องอะลูมิเนียมใช้เเล้วทั้งประเทศไทยมีมูลค่าร่วม 1 พันล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับซาเล้งหรือผู้เก็บของเก่าได้เป็นอย่างดี

นั่นหมายถึงความยั่งยืนได้เกิดขึ้นเเล้ว ไม่ว่าจะเป็นเเง่ทางเศรษฐศาสตร์ สังคมเเละสิ่งเเวดล้อม ดังนั้น อะลูมิเนียมถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบได้โดยไม่เป็นภาระกับผู้ผลิต จะเห็นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นเป๊ปซี่โคได้ออกน้ำกระป๋องชื่ออควาฟิน่า ส่วนโคคา-โคลาเริ่มทำในชื่อดาซานี่ ล้วนได้รับการตอบรับจากตลาดในอเมริกาซึ่งให้ความสำคัญด้านสิ่งเเวดล้อมเป็นอย่างดี

กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเล็งเห็นว่า น่าจะมีส่วนช่วยเหลือสังคมเเละสิ่งเเวดล้อมได้บ้าง จึงได้ทำน้ำกระป๋องในนามของกลุ่ม โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกกลุ่ม คือ บริษัท UACJ (Thailand), Muangthong Aluminium, Thai Metal Aluminium, Gold Star Metal, Cap Global Aluminium และ United Aluminium Industry เพื่อเเจกจ่ายให้กับลูกค้าเเละหน่วยงาน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายให้คนในสังคมมีจิตสำนึกร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยและโลกใบนี้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2573

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมกำลังศึกษากับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เพื่อต่อยอดในส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป