การศึกษาที่ไม่เหมือนเดิม

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ช่วงระหว่างนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดให้แต่ละมหา’ลัยของรัฐรับสมัครนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ยื่นสมัครสอบ TCAS 2564 ในรอบพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งปรากฏว่ามีนักเรียนทั่วประเทศมาสมัครในรอบแรกค่อนข้างน้อย นัยว่ามีจำนวนลดลงกว่า 1.5 แสนที่นั่ง

ทั้ง ๆ ที่มหา’ลัยเปิดรับมากกว่า 4 แสนที่นั่ง

ที่สำคัญ ปริมาณการยื่นสมัครสอบ TCAS ในแต่ละปีกลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกัน ปรากฏว่าในบางสาขาของบางคณะกลับมีนักเรียนสมัครค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพโดยตรง ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นเพราะเหตุใด ? ทำไม ? นักเรียนถึงมาสมัครเข้ามหา’ลัยค่อนข้างน้อย

เพราะดั่งที่ทุกคนทราบ การสอบเข้ามหา’ลัยของรัฐตามระบบ TCAS มี 4 รูปแบบด้วยกันคือ 1.พอร์ตโฟลิโอ 2.โควตา 3.แอดมิสชั่น และ 4.รับตรงอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนที่เรียนค่อนข้างเก่ง กิจกรรมเด่น มีโปรไฟล์ไปทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียน หรือประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในระดับโอลิมปิกวิชาการต่าง ๆ พวกเขามักจะใช้วิธียื่นพอร์ตโฟลิโอเพื่อเลือกคณะที่ตัวเองต้องการ

ส่วนใหญ่คณะเหล่านี้จะอยู่ในสายวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

และส่วนใหญ่พวกเขาจะติดในคณะที่ตัวเองต้องการ เพราะเขาไม่อยากมาสอบในรูปแบบอื่น ๆ ยกเว้นเสียแต่บางคนที่สอบไม่ติด ที่นั่งเรียนในคณะน้อยเกินไป พวกเขาจึงมาสอบในส่วนของโควตา หรือแอดมิสชั่นอีกครั้งหนึ่ง และส่วนใหญ่มักจะสอบติด

แม้ทุกคนจะยอมรับความจริงว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบเข้ามหา’ลัยค่อนข้างน้อย เนื่องมาจากอัตราประชากรเกิดใหม่มีจำนวนลดลง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อมาดูตัวเลขของ ทปอ. จะยิ่งเห็นว่าตัวเลขของนักเรียนที่สอบเข้ามหา’ลัยของรัฐมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จริง ๆ

ทั้ง ๆ ที่ที่นั่งในระดับอุดมศึกษามีค่อนข้างมาก

แต่กระนั้น ถ้ามองในอีกมุมจะเห็นว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไม่อยากสอบเข้าในมหา’ลัยของรัฐ อาจเป็นเพราะสาขา, หลักสูตรของคณะต่าง ๆ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน ที่สำคัญ พวกเขาเห็นว่าการเข้าไปเรียนในสาขา และหลักสูตรต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบันอีกด้วย

พวกเขาจึงเบนเข็มไปเลือกเรียนในมหา’ลัยเอกชนที่มีสาขาที่ตัวเองอยากเรียนแทน

ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการหันไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะทางที่เขาสนใจจริง ๆ ทั้งในส่วนของวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสาขาเหล่านี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงมหา’ลัยในต่างประเทศที่เปิดสอนออนไลน์ในเรื่องที่นักศึกษาสนใจจริง ๆ

ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปี 5 ปี หรือ 6 ปี

เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลา ยังทำให้เสียโอกาสที่จะไปประกอบอาชีพที่ตัวเองต้องการในอนาคตอีกด้วย ผมคิดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาในบ้านเรา หันมาเรียนทางด้านนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน และก็เชื่อแน่ว่าผู้ปกครองบางส่วนค่อนข้างเห็นด้วย เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน สามารถออกมาประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้แล้ว

ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนไม่สูงเท่าที่ควร ทั้งยังใช้เวลาน้อย ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่อยากออกมาเป็น “สตาร์ตอัพ” เพราะทุกวันนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งยอมปล่อยกู้สินเชื่อให้ธุรกิจสตาร์ตอัพที่น่าสนใจหลายแห่ง ยิ่งถ้าพวกเขาเหล่านั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยมุ่งไปทางกรีนโปรดักต์ โอกาสที่พวกเขาจะมีสถาบันการเงินสนับสนุนจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ผลเช่นนี้ จึงเป็นคำตอบนัย ๆ ที่ทำให้มหา’ลัยของรัฐต้องปรับตัว 360 องศา ประเภทที่ยังภูมิใจในความเก่าแก่ของสถาบันตัวเอง และยังภูมิใจที่มหา’ลัยของตนมีหลายวิทยาเขต ผมว่าต้องคิดใหม่แล้ว เพราะในอนาคต ชื่อเสียง, ปริมาณพื้นที่อันกว้างขวาง และมีไม่กี่คณะที่เป็นจุดขาย อาจใช้ไม่ได้อีกแล้วสำหรับโลกการศึกษาในอนาคต

จริง ๆ ผมเขียนเรื่องพวกนี้ค่อนข้างบ่อย

แต่ยังไม่เห็นนักการศึกษาของบ้านเราปรับตัวตามสักเท่าไหร่ หลายคนยังกินบุญเก่าของชื่อเสียง ขนาดความกว้างของมหา’ลัย และความสำเร็จในบางสาขาของคณะต่าง ๆ ในอดีต แต่โลกแห่งความเป็นจริงในการศึกษากำลังจะกลับด้านหมดแล้ว

ฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เรา ๆ ท่าน ๆ คงต้องหันมามองโลกการศึกษาแห่งความเป็นจริงเพราะไม่เช่นนั้น ปรากฏการณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะสอบเข้ามหา’ลัยของรัฐคงไม่น้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนั้นเพราะพวกเขาเห็นแล้วว่า โลกของประสบการณ์การทำงานนอกห้องเรียนคือโลกเสมือนจริงที่จะทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัยในอนาคต

ยิ่งเมื่อเกิดมหันตภัยไวรัสร้าย 1-2 ระลอกผ่านมาด้วย ยิ่งทำให้พวกเขาประจักษ์ชัดมากขึ้นว่า…ควรที่จะมุ่งไปทางไหนดี ?

ทางไหนที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตเร็วที่สุด ?

ตอนนี้พวกเขาคิดอย่างนี้จริง ๆ ?