ภาคตะวันออกสู้โควิด-19 ต่อ ยังต้องตั้งการ์ดสูงแม้ถูกคลายล็อก

ร้านค้า
แตกประเด็น
ดร.สาโรจน์ วสุวานิช 
ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคธุรกิจ บริการท่องเที่ยว ร้านอาหารและโรงแรมกระจายไปทั่วประเทศ สำหรับภาคตะวันออกมี 4 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกลายเป็นพื้นที่สีแดง คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ช่วงต้นปีใหม่

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณจุดพักรถบนถนนสายมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ที่ปกติจะมีผู้ใช้รถใช้ถนนมาแวะซื้อสินค้า ของฝาก และรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นเงียบสนิทและสามารถนับจำนวนรถได้เลย ร้านอาหารก็เปิดน้อยมาก จากร้านใหญ่ ๆ ที่มีข้าวแกงเป็นสิบ ๆ อย่าง ก็ทำขายแค่สองสามอย่างเพราะไม่มีลูกค้าและนักท่องเที่ยว จะเห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบหนักมากจริง ๆ

สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มากนัก และยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐอนุญาตให้โรงงานหรือสถานประกอบการรับรองตนเอง และสามารถขนส่งสินค้าที่มีความจำเป็นได้ตามปกติ เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันภาคตะวันออกสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่พบผู้ติดเชื้อใน 8 จังหวัด ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันแล้ว นำไปสู่มาตรการผ่อนคลายในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดระยองอนุญาตให้เปิด 10 กิจการต่อไปนี้ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 อาทิ นวดแผนไทย ห้างสรรพสินค้า คลินิกเสริมความงาม พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ สวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา สนามกอล์ฟ สนามยิงปืน และตลาดนัด

ล่าสุด ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ได้ประกาศมาตรการคลายล็อกทั่วประเทศ มีผล 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้

เหลือแค่ 5 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ส่วนกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และมี 20 จังหวัด (รวม 8 จังหวัดภาคตะวันออก) ที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม)

โดย 18 กิจการที่ถูกปิดก่อนหน้านี้ก็สามารถให้เปิดบริการได้แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างบางกิจการ เช่น สถานบริการ อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหาร ดื่มสุราภายในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. ให้มีการแสดงดนตรีได้ แต่งดการเต้นรำและจำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ โรงเรียนเปิดได้ตามปกติ จัดการประชุม สัมมนา จัดเลี้ยงได้ แต่ต้องใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ และไทยชนะ ส่วนสปา ฟิตเนส สนามมวย เปิดให้บริการได้ แข่งขันได้ แต่ขอให้จำกัดปริมาณผู้เข้าชมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

หลังจากนี้ แม้ว่าภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการทั่วประเทศแล้ว ผมอยากขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ในภาคตะวันออก ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเอง เรามีการรับรองตนเองภายในสถานประกอบการ และเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกัน การตรวจคัดกรอง มีการคัดแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วย คือ การควบคุมราคาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ต่ำลง กำหนดเป็นราคาเดียวและไม่แพงจนเกินไป ยกตัวอย่าง จังหวัดชลบุรี มีแรงงานไทย 900,000 คน จะให้เอกชนออกค่าใช้จ่าย 100% คงไม่ไหว แต่ช่วยกันพิจารณาได้ว่าพื้นที่ไหนสุ่มเสี่ยงก็ให้ตรวจก่อน 50-100 คน ถ้าพบเชื้อในโรงงานไหนก็ตรวจโรงงานนั้น 100% ต่อไป

ทั้งนี้ อยากให้สำนักงานประกันสังคมเข้ามาช่วยออกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้กับแรงงานในสถานประกอบการให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกัน เชื้อโควิด-19 น่าจะหมดไปภายใน 2-3 เดือนนี้แน่นอน

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรโดยเฉพาะชาวไร่ชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี และตราด ได้ขอให้ภาครัฐและเอกชนเร่งช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นในผลไม้ของภาคตะวันออกว่าสามารถรับประทานได้ ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ทันที ก่อนที่หน้าผลไม้กำลังจะมาถึง ซึ่งหากไม่รีบสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้อย่างแน่นอน

“ขอให้ภาคเอกชนดูแลตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และขอให้ภาครัฐเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง”