Ripple Effect วิกฤตระลอกคลื่น

Photo by pixabay
สามัญสำนึก
เมตตา ทับทิม

เราเตือนท่านแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด …ยาวนานกว่าที่คิด

สด ๆ ร้อน ๆ การประกาศแผนธุรกิจลงทุนใหม่ที่เป็นแมตช์แห่งปีในวงการอสังหาริมทรัพย์ ต้องยกให้ เอพี ไทยแลนด์ โดยซูเปอร์ซีอีโอ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ผู้บริหารท่านนี้ไม่รู้เป็นยังไง เจอตัวเป็น ๆ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง

จำได้ว่าในยุคคอนโดมิเนียมบูมระเบิดระเบ้อ ช่วงปี 2559-2560-2561 “เฮียตี๋-อนุพงษ์” น่าจะเป็น CEO อสังหาฯคนเดียวกระมังที่บอกว่า ไล่ให้ลูกน้องไปโฟกัสตลาดบ้านแนวราบ ทำสวนทางกับชาวบ้านซะอย่างนั้น

ผลลัพธ์ในวันนี้ เอพี ไทยแลนด์ เจ้าของลิขสิทธิ์พันธกิจองค์กร Empower Living คว้ายอดโอนที่อยู่อาศัยอันดับ 1 มูลค่ารับรู้รายได้ 46,130 ล้านบาท ในปี 2563 ปีที่นักธุรกิจไทยทั้งประเทศ และอาจจะทั้งโลกกำลังเผชิญกับความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด

เหตุเกิด ณ 24 กุมภาพันธ์ 2564 CEO เอพี ไทยแลนด์ คนเดียวกัน ออกมาส่งสัญญาณว่า โควิดระลอกใหม่ ไทยกำลังจัดอีเวนต์ต้อนรับวัคซีนเข็มแรกว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้รำไร ๆ

สิ่งที่ส่งสัญญาณออกมาคือ วัคซีนเป็นแสงแห่งความหวัง แต่…ยังอีกนาน สิ่งน่ากลัวที่สุด คือ ripple effect ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น ชีวิตในยุคหลังโควิดจะอยู่กันยังไง

ripple effect ให้นึกภาพแม่น้ำนิ่ง ๆ เราโยนก้อนหินลงไป จะเป็นระลอกคลื่นกระจายตัวออกไป เซ็นเตอร์ของระลอกคลื่นนี้เองที่จะเป็น “ความเสียหายที่วิกฤตโควิด-19 สร้างทิ้งไว้” และจะทำให้มีผลต่อไปอีกนานพอสมควร

อ้าว แล้วความหวังเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างเร็วสุดภายใน 2 ปีล่ะ ข้อมูลที่หยิบมาเตือนความทรงจำก็คือ แบงก์ชาติเคยประเมินฉากจำลองโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับเดียวกันกับยุคก่อนโควิด โน่นเลย แนวโน้มจะเกิดขึ้นปี 2570

“การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นแค่ตัวเลข แต่สิ่งน่ากลัวภายใต้ตัวเลขนี้ ต่อให้ทุกอย่างกลับไปที่ตัวเลขเดิม แต่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ความรู้ที่เรารู้มาจะเปลี่ยนไป วิธีการที่เราเคยทำมาก่อนมีโควิดรอบนี้จะเปลี่ยนไป” คำเตือนอย่างห่วงใยจากใจซีอีโอ

เตือนและส่งสัญญาณกันขนาดนี้ ถือโอกาสเติมข้อมูลที่ส่องมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯอีกที สถิติการออกหุ้นกู้ของบิ๊กแบรนด์อสังหาฯ “มกราคม 2564” แค่เดือนเดียว มูลค่ารวมกัน 26,000 กว่าล้านบาท อายุหุ้นกู้ตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน จนถึงนานสุด 5 ปี

มาจาก 10 บริษัทอสังหาฯ ประกอบด้วย เอพี ไทยแลนด์, โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์, แสนสิริ, เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, อารียา พรอพเพอร์ตี้, MQDC, ชีวาทัย และชาญอิสสระ

ไฮไลต์อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย มีตั้งแต่ 2.77-7.25%

หุ้นกู้เสนอดอกเบี้ยแพงสุด คือ 7.25% ของชีวาทัย บริษัทอสังหาฯที่มี “บุญ ชุน เกียรติ” ผู้บริหารสิงคโปร์ เป็นคนแถลงข่าว

สิ่งที่แปลกตาก็มีดอกเบี้ย 6.75-7.10% ของกลุ่ม MQDC วงเงินรวมกัน 8,200 ล้านบาท บริษัทของตระกูลเจียรวนนท์ ถือว่าออกตัวแรงเพราะลงมาแข่งให้ผลตอบแทนกับชีวาทัย ที่ระดมหุ้นกู้ 700 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 7.25% และชาญอิสสระ ระดมหุ้นกู้ 950 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 6.70%

ในขณะที่ “แสนสิริ-อนันดาฯ-เมเจอร์ฯ-โนเบิลฯ” ให้ผลตอบแทนกลาง ๆ ที่ 3.90-4.50%

ดอกเบี้ยแพงหรือถูก โยนคำถามให้น้อง ๆ เหยี่ยวข่าวสายการเงินของประชาชาติธุรกิจ 3-4 ท่านกรี๊ดกร๊าดกันยกใหญ่ บอกว่าดอกเบี้ยแพง แต่ก็มีหลายออปชั่นที่บริษัทต้องเลือกทำกันแบบนี้

สรุปว่า new normal ของตลาดหุ้นกู้ กำลังส่งสัญญาณตั้งรับความไม่แน่นอนของอนาคตเศรษฐกิจภาพใหญ่ …รึป่าวนะ

ล่าสุด สภาพัฒน์เพิ่งโยนระเบิดเวลา 3 ลูก มีทั้ง “โควิดระลอกใหม่-ภัยแล้ง-ขาดแคลนแรงงาน” ผลกระทบแค่ 3 สิ่งนี้ จับเข้าสูตร ripple effect ได้อย่างเป๊ะเว่อร์

CEO อสังหาฯเตือนท่านแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด …ยาวนานกว่าที่คิด