สัพเพเหระใน ‘คลับเฮาส์’

ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

รู้สึกว่า “คนไทย” น่าจะเป็นชาติหนึ่งที่ตอบสนองแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสร้ายตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เรามักจะเห็นแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และ “คนไทย” เองต่างนำแอปเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ทางการสื่อสาร

ก่อนหน้านี้ก็มี “ซูมคลาวด์มีตทิงส์”

ตามมาด้วย “ติ๊กต๊อก”

และตอนนี้ก็มี “คลับเฮาส์” อีกแล้ว

ในฐานะที่ผมไม่ค่อยติดตามเรื่องราวเหล่านี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าไหร่นัก แต่กระนั้นก็พอจะทราบเลา ๆ อยู่บ้างว่า โลกหมุนไปทางไหนกันบ้างแล้ว ซึ่งเหมือนกับ “คลับเฮาส์” ที่เปิดตัวในปี 2020 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์จาก “Alpha Exploration Co.”

ตอนนี้น่าจะมียอดดาวน์โหลดทั่วโลกไปแล้วหลายล้านแอ็กเคานต์

เสียดายแต่ว่า “คลับเฮาส์” รองรับแค่ผู้ใช้บริการที่ใช้ระบบ iOS 13.0 ขึ้นไป แต่ยังไม่สามารถให้บริการระบบแอนดรอยด์ได้ ซึ่งผมเองไม่มีความรู้เชิงเทคนิค ว่าเมื่อไหร่เขาจะพัฒนาเพื่อรองรับแอนดรอยด์ในอนาคต ที่สำคัญคลับเฮาส์ในปัจจุบันเป็นการ “คุยด้วยเสียง”

ไม่เห็นหน้าค่าตา

ไม่สามารถบันทึกเสียงได้

รู้แต่เพียงว่าในห้องห้องนั้นมีใครมาร่วมพูดคุยบ้าง และการคุยแต่ละครั้งสามารถรองรับผู้คนที่เข้ามาในห้องแชตมากสูงสุดประมาณ 5,000-7,000 คน/ครั้ง

ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าทำไม ? ใคร ๆ ถึงอยากเข้ามาร่วมพูดคุยในห้องห้องนี้ โดยเฉพาะถ้ามี “ประเด็น” ที่น่าสนใจ และอยู่ในช่วงเวลาเหมาะสมที่ทุกคนอยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้น ๆ ผมเองเคยถูกบางห้องร่วมพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ อยู่บ้าง

แต่เวลาไม่ลงตัว

เพราะระหว่างที่เขาคุยกัน งานของผมยังไม่เสร็จ แต่พองานเสร็จแล้ว อยากจะร่วมพูดคุยบ้าง พวกเขาก็น่าจะเหนื่อยหน่ายต่อการฟังประเด็นเหล่านั้นไปแล้ว ผมจึงขอเป็นผู้ดู รออยู่เฉย ๆ และปรารภกับตัวเองว่าถ้าบุคคลที่เชิญเป็นคู่สนทนาที่น่าสนใจ

กลุ่มของเขาไม่หลากหลายทางความคิดมาก

หรือมีประเด็นที่น่าสนใจจริง ๆ

ผมอาจจะเข้าไปร่วมแจมบ้าง

แต่ก็อีกแหละ บางทีการนำเสนอความคิดในมุมที่สอดรับไปในทางเดียวกัน หรือแตกต่างมากเกินไป ผมคิดเล่น ๆ ว่า…บางทีอาจจะทำให้ใครบางคนไม่สบายใจได้ หรือถ้าบางทีแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา อันเกี่ยวโยงกับบุคคลที่ 3-4-5 ก็กลัวว่าคนในห้องน่าจะไม่ชอบ

เพราะเราเองยังไม่ชอบเลยที่เขาจะนำชื่อบุคคลอื่นมาพูดคุยโดยไม่ขออนุญาต

ผมมองว่าใน “ข้อดี” ก็มี “ข้อเสีย” อยู่บ้าง

ขนาดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติต่าง ๆ ที่ทุกคนต่างเห็นหน้าค่าตา ฟังเสียงก็รู้ว่าเป็นใคร ทั้งยังมีประธานในการควบคุม พวกเขายังไม่ลดราวาศอกกันเลย ผมว่าเรื่องพวกนี้พวกเราคงเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตามหน้าโทรทัศน์ และตามข่าวมาหลายสิบปี

แล้วคนที่อยู่ในคลับเฮาส์ล่ะ

จะเถียงกันแบบนั้นไหม ?

ผมเชื่อว่าหลายคนคงไม่เถียงกันแบบนั้นหรอก เพราะเชื่อว่ามีวัยวุฒิ คุณวุฒิพอเพียงที่แตกต่างจาก “นักการเมือง” ทั้งหลาย แต่ก็อีกแหละ ถ้ามีประเด็นแหลมคมที่ต้องการทางออกในเรื่องหนึ่ง ๆ ขึ้นมาล่ะ คนหนึ่งอาจเสนอทางออกอย่างหนึ่ง

คนหนึ่งอาจเสนอทางออกอีกอย่างหนึ่ง

และอีกคนหนึ่งกลับมองตรงกันข้ามกับทั้ง 2 คนที่กล่าวมา เราจะฟังใครดี เพราะเราก็เกรงใจคนที่เชิญเข้ามาในห้องแชต ครั้นจะนำเสนอทางออกแบบสุดติ่งกระดิ่งแมวก็เกรงว่าคนที่ชวนมาจะเสียหน้า หรือไม่อยากเชิญมาซ้ำอีก

ทำไปทำมาเลยกระอักกระอ่วนใจทั้งคู่

ผมคิดของผมเองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องดี ยิ่งถ้าเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าหลายคนพยายามชวนคิด ชวนคุยเพื่อให้เกิดมิติใหม่ ๆ ในทางที่ดี

แต่ก็อย่างว่ามนุษย์ทุกคนใช่ว่าจะคิดเหมือนกันทุกคน

ต้องมีบ้างที่พวกเขาต้องการชวนพูดคุุยเพื่อโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม

ตอนนี้เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วว่า “คลับเฮาส์” เข้าไปมีบทบาทในห้องของพวกนักการเมือง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ผมเองก็ไม่อยากพูดถึง เพราะพวกเขาเองก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเฉกเช่นเดียวกับเรา เพียงแต่อาจจะเผ็ดร้อนกว่าเท่านั้นเอง

และพวกที่อยู่ในห้องเดียวกันก็น่าจะมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันด้วย

ผมจึงอยากสรุปว่าแอปพลิเคชั่น “คลับเฮาส์” ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นมา ในขณะที่เรา ๆ ท่าน ๆ ต่างพบปะเจอะเจอหน้ากันค่อนข้างลำบาก ยิ่งเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้ด้วย

ดังนั้น คนที่เป็น “ผู้นำ” ของแต่ละคลับเฮาส์ควรต้องควบคุมเนื้อหาในการแสดงออกของสมาชิกให้ดี

เพราะบางทีเราอาจได้เรื่องราวดี ๆ มาเล่าขานสู่กันฟังเพื่อคนอื่น ๆ ต่อไป

ขอให้สนุกกับ “คลับเฮาส์” กันนะครับ ?