อย่านั่งบริหาร…บนหอคอย

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ : ขุนพินิจ

ครบรอบ 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งไปแล้ว เป็นบทเรียนราคาแพงมหาโหดของคนไทย ที่พึ่งลมหายใจของคนอื่นมากเกินไป

เป็นการล่มสลายของภาคการเงิน ไฟแนนซ์ และภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ หลังจากมีการลดค่าเงินบาท
อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 40-50 บาทต่อดอลลาร์

เศรษฐีใหม่หมดเนื้อหมดตัว หนี้ท่วมหัว เพราะส่วนใหญ่แห่ไปกู้เงินต่างประเทศมาลงทุน มนุษย์เงินเดือนตกงานกันระนาว เป็นภาวะที่เจ็บและจำขึ้นใจ

แต่ในยุคนั้นภาคเกษตรกรรมเป็นพระเอกขี่ม้าขาว สามารถส่งออกได้ดี และยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็ยังดีเช่นกัน

ที่สำคัญภาคเกษตรสามารถรองรับ ดูดซับผู้คนที่ตกงานในเมืองให้กลับไปตั้งหลักพลิกฟื้นชีวิตขึ้นมาได้

แม้วันนี้จะไม่มีสัญญาณที่จะกลับไปซ้ำรอยเเป็นเช่นนั้นอีก เพราะภาคการเงินของไทยมีความแข็งแกร่ง ระมัดระวัง สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรอบด้าน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาการทางเศรษฐกิจในยุคนี้กลับสวนทางกัน

ในขณะที่ภาคการเงินแข็งแกร่ง แต่ภาคการผลิตจริงแทบทุกตัว กำลังเจอมรสุมถาโถมทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

ซึ่งทั้ง 2 เซ็กเตอร์นี้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และเป็นพื้นฐานของประเทศจริง ๆ

ปัจจุบันราคาพืชเศรษฐกิจส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศตกต่ำทุกตัว แล้วทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง

จะมีก็เพียงผลไม้ “ทุเรียน” เท่านั้นที่ขายได้ราคาสูง

ส่วนมังคุดล่าสุดนี้เกิดปัญหาล้นตลาด ราคาหน้าสวนตกต่ำลงมาเหลือเพียง 8-12 บาท/กก.เท่านั้น ส่วนราคาขายปลีก 4 โล 100 บาท

เหตุการณ์พลิกผันจนตามไม่ทันกันเลยทีเดียว

ตอนนี้กำลังซื้อฐานรากจึงยอบแยบกันไปหมด หนี้สินท่วมหัว รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

ขณะที่รัฐบาลก็ขยาด เจอทางตัน ไม่กล้าที่จะหยิบยกนโยบายเดิม ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการพยุงราคา หรือประกันราคาผลผลิต

วันนี้เราจึงได้ยินแต่คำปลอบใจว่า เรากำลังอยู่ในยุคปฏิรูป ต้องยอมเจ็บ ยอมทนรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่

คำถามก็คือ ได้ผ่าตัด-ปฏิรูป หรือออกนโยบายได้ถูกจุด ถูกเวลา ถูกต้นตอของปัญหาจริง ๆ หรือไม่

อีกกรณีก็คือ การออกกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ไปแล้ว แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องยอมถอยด้วยการหันไปพึ่งอำนาจพิเศษคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านมาตรา 44 สั่งชะลอ/ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายออกไป

ตัวอย่างนี้ได้แก่ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายจัดระเบียบสิ่งรุกล้ำลำน้ำ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อบ้านริมน้ำ กระชังปลา และชุมชนประมงหลายล้านครอบครัว

ล่าสุดก็คือ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่ออกมาบอมบ์คนไทยทั่วประเทศ ภาคก่อสร้าง บริการ เกษตร/ประมง ระเนระนาดไปตาม ๆ กัน กระทั่งต้องยกธงขาวงัด ม.44 มาใช้เช่นกัน

ภาวะแตกกระสานซ่านเซ็นกลับบ้านเกิดของแรงงานต่างด้าวก็ยังไหลไม่หยุด แม้จะมีการผ่อนปรน ไม่มีการจับกุมลงโทษไปจนถึงสิ้นปี 2560 นี้แล้วก็ตาม

พ.ร.ก.ฉบับนี้นับว่ากระทบต่อโครงสร้างตลาดการจ้างงานของไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ภาคเกษตร ประมง ที่มีความสามารถในการแบกรับต้นทุนการจ้างงานที่ไม่เท่าผู้ประกอบการรายกลาง-ใหญ่

ทุกหัวระแหง ทุกซอกซอยล้วนต้องใช้แรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น เพราะกิจการหลายประเภท คนไทยไม่ทำแล้ว

แรงกระแทกครั้งนี้ ยังพุ่งตรงไปถึงประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เพราะจู่ ๆ ก็ต้องแบกรับคนตกงานกลับประเทศนับล้านคน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ การกลับเข้ามาของแรงงานต่างด้าวในสภาพที่ถูกกฎหมาย จะมีต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งฝ่ายตัวลูกจ้างและนายจ้าง และบางส่วนอาจไม่กลับเข้ามาอีก เพราะมีทางเลือกมากขึ้น

นโยบายผ่าตัดใหญ่แรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ ในแง่บวกก็จะเป็นผลดีในระยะยาวที่ทุกคนจะต้องทำให้ถูกกฎหมายเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีการค้ามนุษย์ และให้ความเป็นธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ก็ต้องดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีระยะเวลาการปรับตัวด้วย ไม่ใช่คิดแค่จะปฏิรูปเท่านั้น

ไส้ในของเศรษฐกิจเวลานี้เปลี่ยนผันรวดเร็วมาก เช่น ราคาข้าว ยางพาราปรับตัวสูงขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก็หล่นกราวรูด หรือจู่ ๆ แรงงานต่างด้าวก็แห่กลับประเทศ

ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องฉับพลันทันเวลา ไม่ควรนั่งบริหารอยู่บนหอคอย และยึดติดระบบราชการเดิม ๆ