(เมื่อ) โควิดระบาดเกินรับมือ “วัคซีน” คือความหวังเดียว การไล่คุมไม่ใช่ ‘คำตอบ’

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ในเวลานี้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นเรื่องของ “ความเป็น-ความตาย” ของคนและความอยู่รอดของ “เศรษฐกิจ” ทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (EIU) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยดูที่ศักยภาพในการผลิตวัคซีน โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข จำนวนประชากร งบประมาณสำหรับการจัดซื้อ ฯลฯ ซึ่งผลที่ออกมาสะท้อนชัดเจนว่าประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศยากจนมีความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีน

กล่าวคือ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) มีวัคซีนเหลือเฟือมาก เพราะมีเงินลงทุนมหาศาลเพื่อการพัฒนาวัคซีน ทำให้ 2 ประเทศนี้อยู่ในลำดับแรกที่จะได้รับวัคซีนก่อนใคร

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า จำนวนวัคซีนมากกว่า 50% ถูกจองโดยประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งมีประชากรเพียง 16% ของประชากรทั่วโลก

และประเทศที่มีรายได้สูงจำนวนมากได้จองวัคซีนไว้มากกว่าจำนวนประชากรของประเทศตนเอง เช่น แคนาดา จองวัคซีนไว้ 9.2 เท่าของจำนวนประชากร อังกฤษ 6.1 เท่า ออสเตรเลีย 4.9 เท่า นิวซีแลนด์ 4.4 เท่า อเมริกา 4.3 เท่า ฯลฯ

ซึ่งประเด็นการจองในอัตราที่สูงกว่าจำนวนประชากรของประเทศที่มีรายได้สูงนี้ น่าจะเป็นการคำนวณเผื่อไว้สำหรับเลือกใช้วัคซีนยี่ห้อที่มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเผื่อสำหรับระยะเวลาการส่งมอบด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้นก็ไม่ถือว่าจัดอยู่ในประเทศยากจนแต่อย่างใด แต่หากย้อนดูนโยบายและแนวทางการจัดหาวัคซีนของรัฐนั้นในมุมเอกชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การจัดซื้อจัดหานั้นจัดว่า “ล่าช้า” มาก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นกระบวนการของระบบราชการ ที่ต้องผ่านกฎระเบียบต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะวัคซีนที่ออกมาในตลาดแต่ละยี่ห้อมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ขณะที่รัฐบาลก็มีเจตนาที่ดี เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีน จึงต้องใช้ “เวลา” พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า “ปลอดภัย” จริงก่อนที่จะนำมาฉีดให้ประชาชน

ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้ว (28 กุมภาพันธ์-18 เมษายน 2564) รวม 618,583 ราย (จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน) เป็นผู้ได้รับเข็มแรก 535,925 ราย และได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 82,658 ราย

พร้อมย้ำว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ล่าช้า มีการบริหารจัดการเป็นไปตามแผน และยังได้จัดหาวัคซีนมาเพิ่มเพื่อใช้ในสถานการณ์เร่งด่วนอีกจำนวนหนึ่งด้วย

หากดูตามแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยพอจะสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้วัคซีนมาแล้วราว 2.5 ล้านโดส (ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้) โดยเป็นของ Sinovac เดือนมิถุนายนจะเข้ามาอีก 6 ล้านโดส กรกฎาคม 10 ล้านโดส สิงหาคม 10 ล้านโดส กันยายน-พฤศจิกายน เข้ามาเดือนละ 10 ล้านโดส และธันวาคมอีก 5 ล้านโดส (เป็นของ AstraZeneca)

คำนวณคร่าว ๆ ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะได้วัคซีนมาราว 65 ล้านโดส นั่นหมายความว่าจะครอบคลุมประชากรที่ประมาณ 32.5 ล้านคน

ตัวเลขนี้ถ้าเราประเมินตามแผนที่ระบุไว้ ภายในสิ้นปีนี้ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ระดับ 70% ของจำนวนประชากรได้
คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ทำไมรัฐบาลไม่เร่งสั่งจองวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้เร็วที่สุด เพราะทุกภาคส่วนต่างฝากความหวังไว้ที่ “วัคซีน” ทั้งนั้น

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีนของไทยคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในวันนี้มันเกินระดับที่จะรับมือไหวแล้ว การไล่คุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด แต่ละคลัสเตอร์นั้น ไม่ใช่ “คำตอบ” อีกต่อไปแล้ว

กลายเป็นว่า วันนี้ไม่ว่าเราจะไปไหน ทุกสถานที่กลายเป็น “จุดเสี่ยง” ไปหมด

ขณะที่ภาคธุรกิจเอง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสถานการณ์ในวันนี้ทุกคนตกอยู่ในภาวะ “สิ้นหวัง” และ “ไร้ทางออก” หลายรายหัวใจหยุดเต้นไปนานแล้ว หลายรายอยู่ ICU ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต และหวังเพียงว่ารัฐจะช่วยเติม “ออกซิเจน” ให้ยังมีลมหายใจต่อไปได้บ้าง

และอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะ “สู้ต่อ” หรือ “พอแค่นี้”

ผู้บริหารในธุรกิจโรงแรมหลายรายพูดในทิศทางเดียวกันว่า เวลานี้ “วัคซีน” คือความหวังเดียวที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศได้ หากรัฐยังไม่เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ของจำนวนประชากรโดยเร็ว เศรษฐกิจของประเทศก็จะยิ่งฟื้นตัวลำบาก

คงต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า การให้คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล “บิ๊กตู่” เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส และเปิดทางให้เอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทยช่วยจัดหาอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งเร่งระดมฉีดให้หมดภายในสิ้นปีนี้จะเป็นไปได้ตามแผนหรือไม่

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนส่วนใหญ่ของโลกยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิดในระดับที่เอาอยู่ การแพร่ระบาดของโรคก็คงเกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่าแบบนี้ต่อไป…