ล็อกดาวน์หยุดโควิดเจ็บแล้วต้องจบ

บทบรรณาธิการประชาชาติ
FILE PHOTO : REUTERS/Jorge Silva
บทบรรณาธิการ

การล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง พื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล กับ 4 จังหวัดภาคใต้ ถูกนำมาใช้หลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ประชุมด่วนเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2564 และมีมติให้ใช้ยาแรง

เป้าหมายหลักเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนวิกฤตเกินแก้ เป็นการตัดสินใจในสถานการณ์ที่บีบบังคับ เพราะแทบไม่มีทางเลือกอื่นจะหยุดยั้งโควิด ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมต่อเนื่อง สัญญาณอันตรายยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งขึ้นกว่า 9 พันราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตไต่ระดับเข้าใกล้หลักร้อย ช็อกความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ

การแห่จองคิวตรวจคัดกรองโควิดของประชาชนหลายกลุ่มที่ยอมกัดฟันทนฝนทนยุงแบบข้ามคืน การเสียชีวิตเพราะรอเตียงอยู่ที่บ้าน ปรากฏการณ์ที่ตามมาหลังวิกฤตเตียงขาด ผู้ติดเชื้อล้นโรงพยาบาล ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว วัคซีนไม่มาตามนัด เป็นภาพที่น่ารันทดหดหู่ใจยิ่งนำมาสู่คำถามที่ยังไร้คำตอบ “รัฐบาลทำอะไรอยู่…ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศในเชิงลบจึงขยายวงกว้าง ต่างกันลิบกับคำชื่นชมที่เคยได้รับจากการป้องกันควบคุมโควิดระลอกแรก ผลพวงจากประเมินสถานการณ์โควิดที่ย้อนกลับมาระบาดระลอก 2-3 รวมทั้งระลอก 4 ที่กำลังวิกฤตต่ำเกินไป

แถมมีการเมืองเข้าแทรก พรรคแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาลทำงานในลักษณะขัดขาปีนเกลียวแข่งกันสร้างคะแนนนิยม หวังผลทางการเมือง บวกกับบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด ซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย

การใช้ล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหะสถานตามเวลากำหนด ฯลฯ ในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องทำโดยเร่งด่วน ก่อนผู้ติดเชื้อทะยานทะลุหลักหมื่นคนต่อวันฉุดไม่อยู่ แน่นอนว่าเมื่อใช้มาตรการเข้มข้นจะกระทบประชาชน ภาคธุรกิจ รัฐจึงต้องเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยา การบรรเทาผลกระทบ และความเดือดร้อนควบคู่

อย่างไรตาม ครั้งนี้เสียงคัดค้านต่อต้านล็อกดาวน์ การใช้ยาแรงเบากว่าทุกครั้ง ขอแค่ให้มาตรการที่รัฐบาลจะออกประกาศมีแนวปฏิบัติชัดเจน ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวควรใช้แค่ในระยะสั้น

ขณะที่ประเด็นปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนเรียกร้อง สะท้อนถึงความต้องการ และความวิตกกังวลของคนส่วนใหญ่ ที่หวั่นเกรงว่า หลังล็อกดาวน์ จะหยุดเชื้อไม่อยู่ เจ็บแล้วไม่จบ โควิดย้อนกลับต้องเจ็บซ้ำอีก