นิติเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ NFT สถานะทางกฎหมายของ NFT (3)

คอลัมน์ระดมสมอง

ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา

 

สำหรับในครั้งนี้เราจะมาวิเคราะห์ประเด็นสถานะทางกฎหมายของเหรียญ NFT กันครับ

เมื่อพิจารณามาตรา 137 และมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งให้นิยามคำว่า “ทรัพย์” และ “ทรัพย์สิน” ตามลำดับ สำหรับคำว่า “ทรัพย์” นั้นกฎหมายให้ความหมายไว้ว่า ให้รวมถึงเฉพาะวัตถุที่มีรูปร่างเท่านั้น แต่คำว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วย คำว่าไม่มีรูปร่างอาจตีความได้ว่าเป็นวัตถุที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

เช่น พลังงานที่เกิดจากลม หรือความร้อน หรือก๊าซธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์จนเกิดเป็นมูลค่ามีราคาถือเอาได้

นอกจากนั้น สิทธิที่กฎหมายรองรับและสามารถบังคับเอาได้ก็อาจถือเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างได้เช่นกัน หากสิทธิเหล่านั้นสร้างมูลค่าหรือสามารถกำหนดราคาได้ ตัวอย่างเช่น

– สิทธิที่รับรองโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิจำนองหรือจำนำ เป็นต้น

– สิทธิที่มีกฎหมายเฉพาะรับรอง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายทางการค้า) สิทธิในฐานะผู้ถือหลักทรัพย์ เป็นต้น

– สิทธิที่เกิดขึ้นจากสัญญา เช่น สิทธิการเช่า สิทธิในฐานะหุ้นส่วนของโครงการ เป็นต้น

สำหรับการพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นวัตถุมีรูปร่างหรือไม่นั้น อาจารย์ธนาวุฒิ วงศ์อนันต์ เสนอในดุษฎีนิพนธ์ของท่านว่า ให้แยกการวิเคราะห์เป็น 2 ส่วน ได้แก่ เนื้อข้อมูล (data หรือ information) กับวัตถุที่ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูล (conduit) กล่าวคือ เนื้อข้อมูล เช่น รหัสคอมพิวเตอร์ที่เก็บอยู่ใน smart contract ตามมาตรฐาน ERC-721 และถูกนำมาเรียงต่อกันเป็นชุดข้อมูลบนระบบอีเทอเรียมบล็อกเชนเพื่อสร้างเหรียญ NFT อาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้

อย่างไรก็ดี เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อสร้างและตรวจสอบความถูกต้องของเหรียญ NFT (minting and validating of NFT) โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้เข้าถึงกระเป๋าดิจิทัลที่เก็บรหัสเหรียญ NFT หรือเครื่องเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลระบบอีเทอเรียมบล็อกเชน ถือเป็นวัตถุที่ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูล ซึ่งมีรูปร่างทางกายภาพจับต้องได้สอดคล้องกับนิยามของคำว่า ทรัพย์ในมาตรา 137

แนวทางการวิเคราะห์ข้างต้นสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547 ที่ตัดสินว่าข้อมูลหมายถึง ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงสำหรับการหาความจริง หรือการคำนวณ จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์คิดหรือรับรู้โดยสภาพข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมอยู่ในความคิดของมนุษย์

หากยึดตามแนวทางการวิเคราะห์ข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า เหรียญ NFT ไม่เป็นวัตถุที่มีรูปร่างตามมาตรา 137 แต่อาจถือเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถมีราคาและถือเอาได้ในกรณีของเหรียญ NFT นั้น แม้ว่าเหรียญ NFT ที่สร้างส่วนใหญ่ไม่มีราคาตลาด (market price) เพราะราคาของเหรียญขึ้นอยู่กับว่าจะมีอุปสงค์ของตลาดรองรับหรือไม่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันราคาของเหรียญ NFT ส่วนใหญ่ขึ้นลงตามความผันผวนของตลาด (market sentiment) มีเหรียญเพียงจำนวนน้อยมากที่จะมีค่าในตัวเอง เช่น เพราะผูกโยงและเชื่อมต่อกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิประโยชน์ใน UA ที่มีมูลค่า ดังนั้น เนื่องจากมีหลักฐานข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญ NFT อย่างแพร่หลาย จึงสรุปได้ว่าเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า หากพิจารณาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญากรณีการกระทำต่อวัตถุไม่มีรูปร่าง ขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้และตีความในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ก็เพราะประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ทรัพย์” ไว้

ดังนั้น การพิจารณาตีความฐานความผิดซึ่งมีวัตถุที่มุ่งหมายต่อการกระทำความผิดแตกต่างกัน ได้แก่ ทรัพย์ ทรัพย์สิน และประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจึงถือตามนิยามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาการตีความว่า วัตถุไม่มีรูปร่างนั้นไม่สามารถเป็นวัตถุที่มุ่งหมายต่อการกระทำความผิดทางอาญาในแต่ละฐานความผิด

ยกเว้นว่าจะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดฐานความผิดเอาไว้เป็นกรณีไป เช่น พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีการกำหนดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โทษทางอาญา และมาตรการลงโทษทางแพ่งไว้ในหมวด 6, 8 และ 9 ตามลำดับ

สำหรับเหรียญ NFT ที่มีลักษณะเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ และมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีบุคคลเป็นผู้ควบคุม แต่ใช้การตั้งค่าคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยอัตโนมัติในการจัดเก็บข้อมูล และยังไม่มีกฎหมายเฉพาะใดกำหนดฐานความผิดเอาไว้อย่างชัดแจ้งนั้น มีปัญหาช่องว่างทางกฎหมายในทำนองเดียวกับที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ในคำพิพากษาที่ 5161/2547 กล่าวคือ

การคัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะศาลฎีกายึดความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมของคำว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำหรับใช้เป็นหลักการอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ข้อมูลคอมพิวเตอร์จึงถือเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง และไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่เป็นวัตถุแห่งความผิดของความผิดอาญาฐานลักทรัพย์

แม้ว่าปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ใช้บังคับ แต่ก็มีเพียงความผิดฐานการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่ได้กำหนดความผิดในลักษณะการจารกรรมหรือการเอาข้อมูลของผู้อื่นไปโดยมิชอบ