ขันนอต “วินัยการเงิน-การคลัง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
บทบรรณาธิการ

หลังขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะของประเทศจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 ก.ย. 2564 ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ วันที่ 24 พ.ย. มีมติให้ขยายกรอบการก่อหนี้ของรัฐต่อสัดส่วนงบประมาณจากเดิม 30% เป็น 35% ชั่วคราว 1 ปี

เป้าหมายหลักเพื่อเปิดวงเงินสนับสนุนโครงการประกันรายได้พืชผลการเกษตร ให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มอีก 1.55 แสนล้านบาท จ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายประกันราคา ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นงบฯกลางสำรองจ่ายฉุกเฉินเร่งด่วนในปี 2565

นัยสำคัญของทั้งสองกรณีคือการขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องใช้เงินในการช่วยเหลือเยียวยา การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุนดูแลราคาสินค้า ฯลฯ เนื่องจากช่องการก่อหนี้ปัจจุบันมีจำกัดเพียงแค่ 5,300 ล้านบาท เพราะปีเศษที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากแก้วิกฤตซ้ำซ้อน

ผลพวงจากโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ ชีวิตและสุขภาพอนามัยในวงกว้าง คนระดับกลาง ล่าง ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน ธุรกิจรายย่อยรายได้หดหายหรือแทบไม่มีรายได้ นอกจากหนี้รัฐจะเพิ่มขึ้นแล้วหนี้ภาคครัวเรือนยังพุ่งขึ้นกว่า 90% ของจีดีพี ขณะที่เอสเอ็มอีก็อยู่ในสภาพหนี้ท่วม สะท้อนชัดเจนว่าเศรษฐกิจวิกฤตรุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ

ถึงตอนนี้แม้การแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลาย บรรยากาศในภาพรวมมีทิศทางดีขึ้นหลังการเปิดประเทศ รอบสองมีการผ่อนคลายมาตรการให้สถานประกอบการ รวมทั้งธุรกิจบันเทิง อีเวนต์ต่าง ๆ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางสาธารณสุขกลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่กว่าเศรษฐกิจจะฟื้น การจับจ่าย การบริโภคภายในประเทศจะกระเตื้อง ภาคการท่องเที่ยวจะมีรายได้ใกล้เคียงกับยุคก่อนโควิดคงอีกนาน

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกับโควิดยังเสี่ยงสูง ไม่น่าวางใจ รัฐต้องช่วยเหลือดูแลประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก การดำเนินนโยบายและมาตรการทางการคลังแก้วิกฤตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โจทย์ใหญ่อยู่ที่ทำอย่างไรให้การใช้จ่ายเงินที่มาจากการก่อหนี้คุ้มค่า ตรงกลุ่มเป้าหมาย และไม่เกิดรูรั่วไหล

ที่สำคัญแต่ละนโยบายและมาตรการที่ใช้งบฯเงินกู้ สร้างหนี้ให้คนไทยทั้งในปัจจุบันจนถึงรุ่นลูกหลานแบกรับภาระต้องไม่สูญเปล่า โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดใช้วิธีหว่านเงินเหวี่ยงแห โดยมุ่งหวังผลในทางการเมืองมากกว่าช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

ควบคู่กับเร่งขันนอตวินัยการเงินการคลัง เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ป้องกันการเกิดวงจรอุบาทว์ นโยบายที่จะกลายเป็นพิษเรื้อรัง