ยากินต้านโควิด จุดเปลี่ยนโลกปี 2565

โควิด
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ทั้งยุโรปและสหรัฐกำลังเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อีกครั้ง โดยเส้นกราฟอัตราผู้ติดเชื้อในยุโรปได้พุ่งขึ้นสูงทั้งในออสเตรีย-เยอรมนี-เนเธอร์แลนด์-เดนมาร์ก และอังกฤษ จน WHO ได้ออกมาเตือนว่า ยุโรปอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มอีก 700,000 รายภายในไตรมาสแรกของปี 2565 หากรัฐบาลแต่ละประเทศยังไม่ดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน

การกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบนี้เป็นผลมาจากยุโรปกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่เอื้อต่อการติดเชื้อจากการรวมกลุ่มการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงในอีกหลายประเทศ การเปิดประเทศด้วยการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป และประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดโดยอ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยเส้นกราฟตัวเลขการติดเชื้อทั้งประเทศดูเหมือนจะเป็นเส้นตรง หรือ “ไม่เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ยังมีการติดเชื้อวันละไม่ต่ำกว่า 10,000 คน (เฉลี่ยรวมครึ่งหนึ่งจากยอดการตรวจแบบ ATK) มาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ตัวเลขคนตายเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 50-100 รายต่อวัน จนกลายเป็นสถานการณ์ “ตั้งรับ” แบบ “กดยอดไม่ลง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสงขลา-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

ด้านตัวเลขการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน ปรากฏฉีดไปแล้วประมาณ 88 ล้านโดส และตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกับประมาณการว่า ยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอีกประมาณ 11 ล้านคน

การพลิกกลับมาเร่งฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมากในช่วงเดือนที่ผ่านมาถือว่า ประเทศไทยพ้นจากสภาพการ “ขาดแคลน” วัคซีนแล้วจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้วัคซีนทุกยี่ห้อที่ผลิตได้ในขณะนี้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% แต่วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตลงได้

แต่ข่าวร้ายก็คือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในรุ่นนี้ไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ herd immunity อย่างที่เชื่อ ๆ กันได้ ดังนั้นไม่ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 70-80% หรือ 100% อันเป็นเกณฑ์การเปิดประเทศที่เคยยึดถือกัน “ก็ไม่สามารถทำให้โควิดเป็นศูนย์ไปได้”

ดังนั้นเครื่องมือในการจัดการกับโควิด-19 ในปี 2565 ก็คือ วัคซีน generation ใหม่ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% กับยาที่ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 โดยตรงที่มีประสิทธิภาพดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ประเทศไทยใช้เป็น “ยาหลัก” ในการรักษาโควิดอยู่ในปัจจุบัน

ล่าสุดในเดือนที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัว “ยากิน” ต้านไวรัสโควิด-19 ตัวใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท Merck & Co. สหรัฐ, ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัท Pfizer สหรัฐ, ยาโรนาพรีฟ (Ronapreve) ของบริษัท Roche สวิตเซอร์แลนด์, ยาเรกดิโรนา (Regkirona) ของบริษัท Celltrion เกาหลีใต้

โดยยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลงได้ตั้งแต่ 50% ไปจนถึง 89% ขณะที่ AstraZeneca เองก็กำลังทดลอง “ยาฉีด” รักษาโควิดที่ชื่อว่า AZD7442 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยแสดงอาการได้ถึง 77%

ความคืบหน้าของการขึ้นทะเบียนยารักษาโควิด-19 โดยตรงเหล่านี้กำลังเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงที่กินเวลาอย่างยาวนานถึง 3 ปี

ในขณะที่ประเทศไทยเองเริ่มมีหมอที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ออกมาเตือนให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนวิธีการรักษาจากเดิมที่พึ่งพา “วัคซีนรุ่นที่ 1” ควบคู่ไปกับการใช้ยา “Favipiravir” ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม มาเป็นการจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% หรือการขอรับสูตรเพื่อผลิตยาต้านโควิด หรือจัดซื้อยาเหล่านี้เข้ามาใช้ในประเทศเสียแต่เนิ่น ๆ

อย่าให้เกิดซ้ำรอยการขาดแคลนทั้งยาและวัคซีนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในต้นปี 2564