ทิศทางราคาปาล์ม หลังอินโดฯยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออก

คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
         ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำมันพืชสำคัญของโลกขาดแคลน จึงผลักดันให้ราคาน้ำมันพืชโดยรวม ซึ่งรวมถึง “น้ำมันปาล์ม” ในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น

จากนั้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2022 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เมื่อประกาศมาตรการ “ระงับ” การส่งออกน้ำมันปาล์ม แม้ว่าล่าสุดวันที่ 23 พ.ค. 2022 อินโดนีเซียจะประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม เนื่องจากราคาน้ำมันพืชในประเทศได้ปรับตัวลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของรัฐบาลที่ 14,000 รูเปียห์ต่อลิตร

ดังนั้น จึงยังมีความเป็นไปได้ที่อินโดนีเซียจะกลับมาบังคับใช้มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม หากระดับราคาน้ำมันพืชในอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้นมากอีกครั้ง

ก่อนอื่นเรามาดูว่าเหตุใดอินโดนีเซียจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันปาล์มโลกและไทย ?

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มคิดเป็นกว่า 60% ของผลผลิตโลก เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกน้ำมันพืชของอินโดนีเซียที่มีปริมาณมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกน้ำมันพืชของโลก ดังนั้น หากอินโดนีเซียออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลก รวมทั้งราคาน้ำมันปาล์มของไทยที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วปรับตัวขึ้นอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้

คำถามที่น่าสนใจ คือ หลังจากอินโดนีเซียประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแล้ว ทิศทางราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกและไทยในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ?

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย จะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกอ่อนตัวเพียงช่วงสั้น ๆ แต่กระนั้นทิศทางราคาเฉลี่ยน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกจะยังปรับสูงขึ้นจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลผลิตปาล์มโลกที่ลดลง โดย J.P. Morgan Commodities Research คาดว่าในปี 2022 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยของตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูงที่ 7,403 MYN/Ton เพิ่มขึ้น 66.4% YOY

เช่นเดียวกับราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงตามทิศทางราคาตลาดโลก โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยของไทยในปี 2022 จะอยู่ที่ 58.0 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 52.7% YOY

หลายท่านคงสงสัยแล้วว่า หากราคาเฉลี่ยน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกยังปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างไร

ในเบื้องต้นเราได้ประเมินถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบซึ่งมี 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำธุรกิจครบวงจร จะเป็นปัจจัยกดดันให้ต้นทุนราคาผลปาล์มน้ำมันของผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มดิบของผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่แรงกดดันจากภาครัฐที่มักควบคุมและแทรกแซงราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มขวดแพง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ทั้งหมด โดยรวมจึงทำให้อัตรากำไรของธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่สวนปาล์ม โรงสกัด และโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จะยังสามารถรักษากำไรได้เนื่องจากสามารถบริหารต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการประหยัดต่อขนาด ตลอดจนการจัดการด้านสต๊อกให้มความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

กลุ่มที่สอง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิต จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งใช้น้ำมันปาล์มดิบมากที่สุด คิดเป็น 48% ของความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศทั้งหมด และอีกกว่าครึ่งหนึ่งใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น น้ำมันพืช และอุตสาหกรรมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ไอศกรีม รวมทั้งอุตสาหกรรม Oleochemicals ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอื่น ๆ เช่น สบู่ เครื่องสำอาง และแชมพู เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมองว่าราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ทำธุรกิจครบวงจร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิต

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการราคาวัตถุดิบ การผลิต ตลอดจนควบคุมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เช่น การใช้น้ำเสียจากโรงงานนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง หรือการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยบริหารต้นทุนและสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง