ฉากทัศน์รัฐบาลใหม่ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใจกลางความขัดแย้ง 3 ป. 

ฉากทัศน์รัฐบาลใหม่ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใจกลางความขัดแย้ง 3 ป. 
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

หลังผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. จบลง มีการคาดการณ์ สนามการเลือกตั้งทั่วไป และฉากทัศน์รัฐบาลใหม่

ปัจจัยชี้ขาดของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า มีข้อต้องพิจารณา 4 เรื่อง

เรื่องแรก วิกฤติประชาธิปัตย์

เรื่องที่สอง บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ปริศนาที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

เรื่องที่สาม ความเป็นไปของเครือข่ายอำนาจ 3 ป.

เรื่องที่สี่ พรรคภูมิใจไทย และอนุทิน ชาญวีรกูล ตัวแปรชี้ขาด

โจทย์ใหญ่ โจทย์ใหม่ ของประชาธิปัตย์ทับซ้อน 3 เรื่อง ทั้งวิกฤติผู้นำ มองข้ามไป “ยุคหลังจุรินทร์” ยังมองไม่เห็นว่าจะมีใครขึ้นแทน นโยบายสำหรับการหาเสียงครั้งใหม่ ยังไร้รูปธรรม และฐานเสียงเก่า-ใหม่ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะพลิกมาเป็นจำนวน ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ

แกนนำพรรครายหนึ่งให้ความเห็นว่า ยังไม่เห็นว่าพรรคจะมีแนวทางอย่างไร ที่จะได้ ส.ส.กลับคืนมา ภาคเหนือ อีสาน ยังยากที่จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น จากปี 2562

ฐานที่มั่นที่ภาคใต้ ภายใต้แคมเปญประชาธิปัตย์คัมแบ็ก ยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้ ส.ส.ดีดกลับ เพราะลงสนามรอบหน้า มีคู่แข่งระดับแถวหน้า ทั้งพลังประชารัฐ การจัดตั้งแบบจับตัววางตายสไตล์ภูมิใจไทย ไหนจะมีพรรคกล้า สร้างอนาคตไทย ลงไปรุมชิงเก้าอี้อยู่ในพื้นที่อย่างหนาแน่น และต่อให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งทั้งภาคใต้ ก็ได้ ส.ส.แค่ 50 คนเท่านั้น

ประชาธิปัตย์ จึงต้องยอมถอยมาตั้งหลัก ยอมเจ็บตัวจัดกำลังคนใหม่ ให้คนเก่า-แก่ออกจากวงจรบริหาร ฟื้นฟูพรรค ให้กลับไปสู่ 3 เสาหลักที่เคยอ้าง คือ ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นประชาธิปไตย และต้องกลืนเลือดถ้าจะแพ้การเลือกตั้งอีกอย่างน้อย 2 รอบ

เรื่องต่อมา บัตรเลือกตั้ง 2 ใบและปริศนาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซ่อนอยู่ในกฎหมายลูก และใจกลางปัญหาคือ มาตรา 272 ที่ว่าด้วยอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. แต่ทว่ากลับไม่ได้แก้ไข เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งระบบเลือกตั้งแบบใหม่ บัตร 2 ใบ และการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้ฐานจำนวนคะแนนทั้งหมดหาร 100 แทนแบบ เก่าหาร 500 ทำให้ พรรคเล็ก พรรคใหม่ ตายสิ้นซาก เพราะต้องมีฐาน 3 แสนกว่าเสียง ถึงจะได้ ส.ส. 1 คน

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่า ฝ่ายอำนาจ 3 ป. เพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก ไพ่ที่เคยอยู่ในมือ หายเกลี้ยง อย่างน้อยพรรคอะไหล่ ข้างทำเนียบ ก็ไม่ได้เกิด พรรคธรรมนัสก็แตก-ตั้งป้อม ท้าทายอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่อง

เครือข่ายอำนาจทั้ง 3 ป.จึงต้องตั้งหลักใหม่ โฟกัสเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้คืนอำนาจหลังเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องเจาะไทม์ไลน์หาแท็กติก พลิกกฎหมายลูก ที่จะเข้าสู่วาระ 2 ในกลางเดือนมิถุนายน

ภายใต้การล็อบบี้กรรมาธิการฯ พลังประชารัฐทั้งพรรค ภูมิใจไทย และเสรีรวมไทย รวมทั้งพรรคเล็ก-จิ๋ว ตั้งขบวน ทวนทางเก่า ชิงความได้เปรียบในรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้เพื่อเรา

แม้เส้นทางนี้จะเหาะเหินเกินลงกา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ปลายทางที่ศาลรัฐธรรมนูญ…อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจัยชี้ขาด ที่ต่อเนื่องจากเครื่องมือในรัฐธรรมนูญ ต่อการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า คือ ความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา-อนาคตของ 3 ป. ที่มีศูนย์กลางยังอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียว

เหนือสิ่งอื่นใด ไร้สัญญาณแตกแยก ทั้ง 3 ป. ยังใช้ “ระบบหลังบ้านเดียวกัน” แบ่งบทกันเล่น ในครม. – ที่รัฐสภา และบ้านป่ารอยต่อ

แต่หากแนวทางการนับคะแนนเลือกตั้งแบบใหม่-บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ยากที่พรรคใหม่ “รวมไทยสร้างชาติ” โดย “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” และพวกอดีตประชาธิปัตย์ ทายาทสุเทพ-เอกนัฏ พร้อมพันธ์ ไปสแตนด์บายก็ไม่ได้เกิด

ฉากทัศน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยุคหลังเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไม่ควรลืมปัจจัย ที่ว่าด้วยตัวแปรสำคัญชี้เป็นชี้ตาย เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ขึ้นอยู่กับอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าภูมิใจไทย

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.บอกทิศทาง ทำนายผลการจัดขั้วรัฐบาลครั้งใหม่ คือ สูตรแรกเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย บนสมติฐานว่า เพื่อไทยไม่รับเงื่อนไขก้าวไกล ในประเด็นอ่อนไหวของสังคม ผลักประชาธิปัตย์-ก้าวไกล-พรรคเล็ก เป็นฝ่ายค้าน

สูตรที่สอง พลังประชารัฐไม่ชูประยุทธ์ และได้เสียง ส.ส.ต่ำกว่าภูมิใจไทย อนุทินก็สามารถพลิกขั้วจัดรัฐบาลกับกลุ่มพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม เป็นภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ และพรรคเล็ก

สูตรที่สาม พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล-ภูมิไจไทย เป็นรัฐบาล

ทุกสูตรของการจัดรัฐบาล มีพรรคขนาด 80-90 เสียง ของอนุทิน เป็นแกนสำคัญ ที่จะโบกมือให้ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง

เพราะทุกฝ่ายในเมืองไทย เชื่อว่าเป้าหมายของทักษิณ หวังชนะเกมใหญ่ที่มากกว่าได้เป็นแกนนำรัฐบาล คือ กลับบ้าน เลี้ยงหลาน