ชัชชาติ ดึงเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ฝ่ายประยุทธ์ โต้กลับ อยู่ยาวแก้เกมเลือกตั้ง

ชัชชาติ
รายงานพิเศษ

เอฟเฟ็กต์ แลนด์สไลด์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คว้าคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แบบถล่มทลาย 1,386,769 คะแนน

“ชัชชาติ” ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อชนะขาดลอย จึงมาสู่สมมุติฐานทางการเมืองจากบางกลุ่ม บางฝ่ายว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงจุดจบ เพราะประชาชนไม่ยอมรับอีกต่อไป

“ตัวพ่อ” แห่งพรรคเพื่อไทย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านเพจ Room 44 ถึงเอฟเฟ็กต์การแลนด์สไลด์ใน กทม.จะส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่ ว่า

วันนี้ยิ่งรัฐบาลอยู่นานเท่าไหร่ ประชาชนแย่มาก โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะอย่างท่วมท้นยิ่งสูงขึ้นอีก เพราะวันนี้สินค้าราคาแพงไม่มีปัญญาแก้ ไม่มีความพยายามจะแก้ โอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลจะแพ้ราบคาบสูง ตุนกระสุนไปซื้อยังไงก็เอาไม่อยู่

ส่วนเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์หรือไม่ “ทักษิณ” เชื่อว่าถ้าประชาชนให้โอกาส แบบเดียวกับ กทม.แลนด์สไลด์แน่นอน

“วันนี้พูดตรง ๆ ทั้ง 3 ลุงหมดสภาพ อายุ สังขารไม่เปิดรับกับโลกภายนอก ทำให้ยิ่งอยู่ ยิ่งพัง พังทั้งประชาชน พังทั้งประเทศ และพังทั้งตัวเขาเองด้วย ถ้าเป็นผมเจออย่างนี้ มาตกลงกันดีกว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ดี ไม่ต้องรอถึงการประชุมเอเปค ไปไม่ถึงเอเปคหรอก”

เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไม่ถึงเอเปค “ทักษิณ” ใช้โอกาสแนะนำพรรคร่วมรัฐบาลให้ดีดตัวออก “เลือกตั้งคราวหน้าพวกที่สนับสนุนรัฐบาล หาตังค์ไปเยอะตัวใครตัวมันได้แล้ว ไม่งั้นพัง ไม่ตัวใครตัวมันคราวนี้ไม่เหลือ ถ้าคิดการเมืองเป็น และคิดถึงประชาชนบ้างก็ไม่น่าอยู่”

เพื่อไทย รื้อยุทธศาสตร์ใหม่

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย อดีตต้นสังกัดเก่าของ “ชัชชาติ” ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ได้ ส.ก.มา 20 ที่นั่ง แม้ไม่ “แลนด์สไลด์” ได้เกินครึ่ง แต่ก็ถือว่าได้ตามเป้า แต่ในทางยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ ยังถือว่า “เสียท่า” ในหลายเขต ให้กับพรรคก้าวไกล ที่จี้หลังมาติด ๆ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงไทยสร้างไทย

“วิชาญ มีนชัยนันท์” ประธานภาค กทม.เพื่อไทย ยอมรับว่า จุดที่เสียเปรียบคือ เพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ กทม. แต่เขตที่เราแพ้ก็แพ้อย่างสูสี และเขตที่แพ้เราก็มีคะแนน หากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ก.ในอดีต ที่มี ส.ก.ทั้งหมด 60 คน พรรคเราได้ 17-18 ที่นั่ง แต่ปัจจุบัน ส.ก.ลดเหลือ 50 เขต เราได้มา 20 ที่นั่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

สิ่งที่ต้อง “ปรับปรุง” กลยุทธ์สู่การเลือกตั้งใหญ่ “วิชาญ” บอกว่า ตอนนี้การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง กทม. นอกจากแข่งกันที่นโยบายแล้ว แข่งกันที่ air war เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคอนโดฯ-บ้านมีรั้ว ซึ่งถูกฉกชิงไปโดยพรรคก้าวไกล

ในหลายเขตที่ถูกก้าวไกลตัดคะแนน แพ้พรรคประชาธิปัตย์ “วิชาญ” ชวนให้มองในแง่ดีว่า เขตที่เพื่อไทยไม่เคยเจาะเข้าก็เจาะเข้าในคราวนี้ เช่น เขตบางรัก และเขตยานนาวา ซึ่งเคยอยู่ในมือประชาธิปัตย์มาก่อน ดังนั้น แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งต่อไปยังพอมีความหวัง

ปชป.คัมแบ็กสนาม กทม.

ฟากประชาธิปัตย์ ที่ส่ง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ ลงสนามได้คะแนนรวมทั้งสิ้น 254,723 คะแนน ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก. ได้มา 9 ที่นั่ง “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ กทม. วิเคราะห์ว่า คนกรุงเทพฯยัง “ให้โอกาสประชาธิปัตย์” เพราะผู้ว่าฯ กทม.ได้คะแนนเป็นอันดับที่สอง ขณะเดียวกัน ส.ก.ได้มาถึง 9 เขต เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งไม่ได้ ส.ส.เขตเลย ก็ต้องถือว่า “ประชาชนให้โอกาส”

แต่เจตจำนงในการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กับการเลือกตั้ง ส.ส.ภาพใหญ่ แตกต่างกัน เพราะคนกรุงเทพฯเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เสียงส่วนมากแสวงหาบุคคลที่มีความเหมาะสมในสมัยนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.

“องอาจ” ยังมองว่าเร็วเกินไปที่จะบอกว่า คนกรุงเทพฯจะใช้ปัจจัยอะไรในการเลือก ส.ส.อีก 7-8 เดือนข้างหน้า เพราะยังไม่รู้ว่า ผู้สมัครจะเป็นใคร นโยบายของแต่ละพรรคคืออะไร

“ประชาธิปัตย์อยู่ในสนามการเมืองใน กทม.อยู่แล้ว ยังทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องในกรุงเทพฯ ในเกือบทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ในทุกสถานการณ์”

ประยุทธ์ยังไม่จนมุม

ขณะที่นักวิชาการที่อยู่ตรงกลางอย่าง “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ที่ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายพันธมิตร พล.อ.ประยุทธ์ แพ้ฝ่ายก้าวหน้า ชัชชาติ-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เป็นเพราะ 1.คะแนน ชัชชาติ+วิโรจน์ รวมกัน 1.5 ล้านคะแนน แต่จริง ๆ แล้วใกล้เคียงกับคะแนนเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคอนาคตใหม่ เฉียด ๆ 1.4 ล้าน เมื่อรวมเสียงฝ่ายค้านจะอยู่ที่ 1.5 ล้านกว่าคะแนนเช่นกัน

2.คะแนนฝ่ายอนุรักษนิยมที่หายไป อาจเป็นเพราะคนมาใช้สิทธิ น้อยกว่าเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 อยู่ 10% คะแนนที่เหลือกันจริง ๆ ในฝ่ายอนุรักษนิยมคือเสียง “จัดตั้ง” แต่ที่ไม่ได้จัดตั้ง ก็ไม่ได้หายไปไหน เขาอาจรู้อยู่แล้วว่าไม่ชนะ จึงไม่ออกมา

ส่วนคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ “ถดถอย” แต่ไม่ได้เยอะจนน่ากลัว

“ลุงตู่ยังไม่หมดหวัง ต้องไปปรับทัพ จัดแผงกันให้ดี ในตอนนี้สถานการณ์ กทม.เป็นอย่างไร วางยุทธศาสตร์อย่างไร อย่างน้อย ๆ เอาให้ได้เท่ากับปี 2562 ไม่ใช่แปลว่าหมดหวังแล้วทีเดียว”

“สมมุติปีนี้โชคชะตาเข้าข้างรัฐบาล โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาหลัก เศรษฐกิจฟื้นคืนชีพ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจบวก รัฐบาลอยู่ได้ขึ้นมา ก็ตรงข้ามกับที่คุณทักษิณวิเคราะห์ ดังนั้น ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบบนี้ ยังไงก็ตื๊ออยู่ครบเทอมแน่ เพราะเลือกเร็วปรับทัพไม่ทัน”

“ส่วนพรรคพลังประชารัฐเสื่อมสภาพอยู่แล้ว และแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ และพลังกรุงเทพ ตัดกำลังกันเองชัดเจน แต่ถ้าในการเลือกตั้งสนามใหญ่ ทั้ง 2 กลุ่มรวมกันได้ ก็ไม่ได้แปลว่าพลังประชารัฐ หรือแบรนด์อื่นที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะสูญพันธุ์”

ดังนั้น ไปเอาคะแนนละเอียดของ ส.ก.มาดูว่า กลุ่มรักษ์กรุงเทพ กับพลังกรุงเทพ เมื่อรวมกันแล้ว ชนะ ส.ก.เพื่อไทย หรือก้าวไกลได้ที่ 1 หรือไม่

สติธร ชี้จุดอ่อนเพื่อไทยว่า ที่ได้ ส.ก. 20 ที่นั่งรอบนี้ ก็เป็นเพราะขั้วรัฐบาลแตกทีมมาตัดคะแนนกันเอง แปลว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลรวมกันได้คือเพื่อไทยลำบาก

เพื่อไทยก็ถูกพรรคก้าวไกลตัดทุกเขต และชนะ 14 เขต ก้าวไกลยึดเสียงและไม่คืนด้วย ในสนามเลือกตั้งใหญ่ ก้าวไกลอาจแปลงได้ ส.ส. 7-8 เขต

“ที่ ส.ก.เพื่อไทยชนะ ก็เพราะเกาะกระแสชัชชาติมา ถ้าไม่มีชัชชาติจะได้ขนาดนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกชัชชาติ แล้วจับคู่ ส.ก.กับเพื่อไทย หรือไม่ก็ก้าวไกล ดังนั้น กระแสชัชชาติพามา ไม่ได้แปลว่าแข็งด้วยแบรนด์ตัวเอง ต้องคิดถึงคะแนนที่มากับกระแสชัชชาติ พอถึงสนามใหญ่ต้องคิดหาใครมาสร้างกระแสแบบนี้ เลือกเพื่อไทยอยากได้คนนี้เป็นนายกฯ”