คะแนนผู้ว่าฯ กทม. ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สัญญาณบวกประชาธิปัตย์เลือกตั้งใหญ่

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) ได้บทสรุปไปแล้ว หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมาแล้ว 9 ปี

ที่ 1 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 ในนามอิสระ “นอนมา” ได้คะแนน “ทะลุล้าน” ทิ้งห่าง “คู่แข่ง” หลายช่วงตัว

การลุ้นคะแนน อันดับที่ 2 ระหว่าง ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 จากค่ายก้าวไกล จึงเข้มข้น-เร้าใจ หลังจากเบียดกันมาคู่คี่-สูสี พลิกไปพลิกมา

ผลปรากฏ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ชนะเฉียดฉิว ด้วยคะแนน 254,723 คะแนน ต่อ 253,938 คะแนน ห่างกันเพียง 785 คะแนน เข้าป้ายเป็น “อันดับสอง” ขณะที่ วิโรจน์ หล่นลงไปเป็นอันดับสาม

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ กทม. วิเคราะห์หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. ว่าพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ ยัง “ให้โอกาสประชาธิปัตย์” เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้คะแนนเป็นอันดับที่สอง

ขณะเดียวกันการเลือก ส.ก. ได้มาถึง 9 เขต ได้แก่ คลองสาน บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางบอน บางพลัด ประเวศ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์

“ถ้าเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เมื่อปี’62 ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้เลย ก็ต้องถือว่า ประชาชนให้โอกาสประชาธิปัตย์ได้ทำงานรับใช้พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ต่อไป”

เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี’62 ประชาธิปัตย์ได้คะแนนรวมกว่า 4.2 แสนคะแนน ทว่าคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดร.เอ้-สุชัชวีร์ ได้เพียง 2.5 แสนคะแนน เขาเห็นแย้งว่า ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้

“อดีต ส.ส.กทม. เขตบางกอกน้อย” บอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การเลือกตั้ง ส.ส. ก็คือ การเลือกตั้ง ส.ส. เจตจำนงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแตกต่างกัน

“พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เสียงส่วนมากแสวงหาบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปีนั้น ๆ ในสมัยนั้น ๆ ซึ่งมีปัจจัย มีเงื่อนไขในการมาประกอบการตัดสินใจที่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีปัจจัย มีเงื่อนไขที่แตกต่างออกไปอีกลักษณะหนึ่ง มีปัจจัยเงื่อนไขในระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก”

“องอาจ” ยังมองไม่ออก-ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ในอีก 7-8 เดือนนับจากนี้ คนกรุงเทพฯ จะใช้ปัจจัยอะไรในการเลือก ส.ส. เพราะยังไม่รู้ว่า ผู้สมัครจะเป็นใคร นโยบายของแต่ละพรรคคืออะไร

เอฟเฟ็กต์ของ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ ที่เข้าป้ายเป็นอันดับสอง เป็นการส่งสัญญาณว่า ประชาธิปัตย์กลับมาเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในสนามการเมือง กทม.เต็มตัว หลังการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี’62 ได้ “ศูนย์ที่นั่ง”

“ประชาธิปัตย์อยู่ในสนามการเมืองใน กทม.อยู่แล้ว เพียงแต่ผลการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ออกมาก็แตกต่างกันออกไปเท่านั้นเอง ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทิ้งสนามการเมือง กทม.ไปไหน เรายังทำงานการเมือง ทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องในกรุงเทพฯ ในเกือบทุกระดับอย่างต่อเนื่องตลอดมาในทุกสถานการณ์ ฉะนั้นประชาธิปัตย์ยังคงเดินหน้ามุ่งมั่น ตั้งใจทำงานต่อไป”

การเลือกตั้ง ส.ส. ปี’62 ประชาธิปัตย์ไล่หลังคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ รั้งอยู่อันดับที่ 3-อันดับที่ 4 ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า แต่ “องอาจ” ขอสงวนท่าที ไม่ขอเปิดศึก

“ต้องดูวันที่มีการสมัครรับเลือกตั้งก่อน เช่น มีพรรคไหนส่งลงสมัครแข่งบ้าง ผู้สมัครเป็นใคร นโยบายของพรรคเป็นอย่างไร คงต้องไปดูตอนนั้นก่อน ถึงจะมองเห็นชัดเจนมากขึ้น มากกว่าการมองในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน”

“องอาจ” เตรียมสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. เพื่อนำไปสู่การปรับทัพเพื่อเตรียมสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยการนำข้อมูลการงานช่วงที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการรณรงค์หาเสียง ว่ามี “จุดเด่น” และ “จุดด้อย” อะไรที่ประชาธิปัตย์จะนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

“เรื่องใดที่ทำแล้วได้ผลดีก็ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ส่วนอันไหนที่ควรปรับปรุงแก้ไขเราก็คงต้องมาหาวิธีการที่เหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การทำงานโดยรวมสามารถทำประโยชน์ให้กับพี่น้องกรุงเทพฯ ได้มากยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชน เพื่อที่คนกรุงเทพฯจะได้สนับสนุนให้ประชาธิปัตย์ได้ทำงานต่อไป” องอาจตบท้าย

ขณะที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏร์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินในทางบวกเช่นเดียวกันว่า พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ยังให้โอกาสกับประชาธิปัตย์ และทุกคะแนนเสียงมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่งกับประชาธิปัตย์

“ต้องยอมรับว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไป ประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยใน กทม. แต่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ ประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับสอง และ ส.ก. ได้ถึง 9 คน”

“จุรินทร์” วิเคราะห์ภาพสะท้อนไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติว่า เป็นคำตอบหนึ่งสำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นคำตอบหนึ่งของการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม. แต่จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนในระดับประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยังไม่สามารถตอบได้ และยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้