กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ปั๊มน้ำมัน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

หลังจากผ่านมาครึ่งปี การขอกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อ “เสริมสภาพคล่อง” ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีสถาบันการเงินเอกชนรายใดให้ความสนใจที่จะปล่อยเงินกู้ 20,000 ล้านบาทให้กับกองทุน

จากเดิมราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปีก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเฉลี่ยประมาณ 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล จนมาถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบได้ “กระโดด” ขึ้นไปสูงถึง 110-120 เหรียญต่อบาร์เรล หรือไม่เคย “ต่ำกว่า” 100 เหรียญ/บาร์เรลติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ใช้เงินกองทุนเพื่อ “ตรึงราคา” น้ำมันดีเซลตามนโยบายรัฐ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท มาเป็นลิตรละไม่เกิน 33 บาท (ตามกรอบเบื้องต้นไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท) จากราคาน้ำมันดีเซลแท้จริงมีราคา “มากกว่า” ลิตรละ 40 บาท

ส่งผลให้ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ “ติดลบ” หรือจากระดับ -21,838 ล้านบาทในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นติดลบถึง -81,395 ล้านบาทณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 หรือเพียง 3 เดือน ติดลบไปกว่า -59,557 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการติดลบในส่วนของบัญชีน้ำมัน -45,968 ล้านบาท กับบัญชีก๊าซ LPG -35,427 ล้านบาท

รัฐบาลได้เลือกที่จะประคับประคองกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการ “ตรึงราคา” น้ำมันดีเซลให้ “สวนทาง” กับสภาพความเป็นจริงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้วยการยอมตัดเฉือนรายได้หลักจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง เบื้องต้น 3 บาท/ลิตรมาเป็น 5 บาท/ลิตร

มีจุดประสงค์อยู่ที่การ “พยุง” รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 32-33 บาทให้ยาวนานขึ้น โดยยังคง “กรอบ” ในการอุดหนุนราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตรเหมือนเดิม

หรือจากก่อนหน้านี้ที่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องอุดหนุนน้ำมันดีเซลลิตรละประมาณ 9 บาท ขณะที่การลดภาษีลิตรละ 5 บาทได้เข้ามาจะช่วย “ลดภาระ” เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันฯลงลิตรละ 2.46 บาท หรือเท่ากับอุดหนุนอยู่ราวลิตรละ 7 บาทในปัจจุบัน

จึงเป็นคำตอบสำคัญที่ว่า แม้รัฐบาลจะลดภาษีสรรพสามิตลงมาถึง 5 บาทแล้ว ทำไมราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลถึงไม่ลดลงจากระดับราคาลิตรละ 32-33 บาท

ในขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้ก็คือ จะหาเงินจากไหนมา “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่กองทุนต้องติดลบไม่ให้ถึง -100,000 ล้านบาท ถือเป็นภาระทางด้านการบริหารเงินที่สูงมาก

แน่นอนว่า สถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนต่าง “ตระหนัก” ถึงข้อเท็จจริงใน “ความเสี่ยง” ที่ธนาคารจะต้องแบกรับภาระไว้ หากต้องปล่อยเงินกู้เบื้องต้นจำนวน 20,000 ล้านบาทโดยไม่มีหลักทรัพย์หรือมี “ใคร” ค้ำประกัน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอันใดที่ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ ครม.มีมติ “อนุมัติ” ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ กู้ยืมเงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องได้ แต่กลับไม่มีใครยอมปล่อยเงินกู้ให้

ด้านหนึ่งสถาบันการเงินยังคง “สงสัย” ในเรื่องของความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ อีกด้านหนึ่งสถานะสุทธิของกองทุนที่ “ติดลบ” เฉียด -100,000 ล้านบาทจะทำอย่างไร

ดูเหมือนว่า ความหวังในการขอกู้เงินจะอยู่ที่ธนาคารออมสิน ซึ่งกลายเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่มีท่าที “จำยอม” ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กองทุน โดยที่ตัวเองจะต้องลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด

ดังนั้นข้อเสนอการปล่อยกู้ในรูปของการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน P/N จึงถูกหยิบยกขึ้นมาหารือถึงความเป็นไปได้ในลักษณะ “ปล่อยกู้เป็นงวด ๆ ครบกำหนดระยะเวลาต้องใช้คืนทันทีถึงจะปล่อยกู้ในงวดต่อไป”

วิธีการนี้นับเป็นการปิดความเสี่ยงของธนาคารเพื่อการันตีความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากยอมปล่อยเงินกู้ทั้งก้อน (20,000 ล้านบาท) ให้กับกองทุนเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ภาระในการหาเงินมาใช้หนี้ตั๋ว P/N ก็จะตกหนักอยู่ที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ฐานะสุทธิติดลบเดิมกว่า -80,000 ล้านบาทก็ยังไม่ได้แก้ไข แต่กลับก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 20,000 ล้านบาท

เมื่อมองกันไกล ๆ แล้วราคาน้ำมันดิบโลกคงไม่เกิดปฏิหาริย์ต่ำกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลภายในปีนี้แน่