HR TECH 2022 ยกระดับองค์กรสร้างคนทันโลก

HR

เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยในการจัดการทรัพยากรบุคคล (เอชอาร์) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้งาน THAILAND HR TECH 2022 ที่จัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand) หรือ PMAT จึงได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “Let’s Create Human-first Technology for Humanity” ซึ่งเป็นฟอรั่มที่มีทั้งเวทีเสวนาของผู้บริหารจากองค์กรที่มีชื่อเสียง เวิร์กช็อป และบูทจัดแสดงเทคโนโลยีที่จะฉายภาพให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของการจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

“PMAT” หัวหอกแชร์ความรู้

“ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา” นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานปีนี้อยู่ในความสนใจของเอชอาร์มากกว่า 20,000 คน เพราะโควิด-19 ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้นว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

ทาง PMAT จึงจัดงาน HR Tech ปีนี้ มีทั้งความรู้ และโซลูชั่นทุกรูปแบบที่สอดรับกับการปรับตัวสู่โหมด digital HR อย่างเต็มตัว เพื่อช่วยทำให้การบริหารทรัพยากรมนุษย์สามารถใช้ศักยภาพของคนอย่างเต็มที่ผ่านเทคโนโลยี การบริหารคนให้เก่งขึ้น ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

“PMAT สนับสนุนองค์กรทุกขนาด หรือแม้แต่สตาร์ตอัพให้ได้มาแบ่งปันองค์ความรู้ในงานทุก ๆ ปี เพราะแต่ละคนมีกลเม็ดเคล็ดลับการสร้างคนเก่งในองค์กรในแบบของตนเองที่น่าสนใจ และควรมีเวทีให้พวกเขาได้แบ่งปันเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันในระดับองค์กร และระดับประเทศ จึงจัดให้มีเวทีสัมมนากว่า 100 หัวข้อ และวิทยากรกว่า 100 คน”

“WEDO” สร้างคน 3 ดี

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG CBM : SCG Cement-Building Materials) กล่าวว่า หัวข้อที่เป็นความท้าทายของคนเอชอาร์ในปัจจุบันคือ อนาคตของโลกการทำงาน (future of work), เศรษฐกิจกระแสใหม่ (new economy), การจัดโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ และหาทาเลนต์แบบใหม่

ดังนั้น เอชอาร์ต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ และต้องกลับไปคิดใหม่ พร้อมกับเริ่มต้นใหม่ หรือที่เรียกว่า zero to one ด้วยการสร้างทีม หาทาเลนต์ใหม่เข้ามาร่วมในองค์กร เพื่อให้คนเหล่านั้นช่วยคิดค้นสินค้า บริการใหม่ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้น

“ทีมเอชอาร์ต้องมีความเข้าใจคน จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการ โดยการสร้างทีมจะสำเร็จได้ คนในทีมต้องมีสมรรถนะหลัก 3 ข้อ คือ การออกแบบความคิดสร้างสรรค์, ความเข้าใจในธุรกิจ และความเข้าใจในเทคโนโลยี

นอกจากนั้นต้องทำงานใน 3 โหมด คือ 1) tries การลองผิดลองถูกคล้ายสตาร์ตอัพ 2) grows การขยายผลทำให้ธุรกิจเติบโตโดยใช้เทคโนโลยี และ 3) sustains การทำให้เทคโนโลยีและสินค้าหรือบริการมีความยั่งยืน”

SCG CBM มีการสร้างทีมใหม่ที่เรียกว่า WEDO โดยใช้หลัก “Doodee” คือ คนมีดี 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ทัศนคติดี สอง ชุดทักษะดี สาม ผลงานดี ซึ่งการสร้างทีมใหม่ในองค์กรระยะแรก ๆ คนมักจะต่อต้าน ไม่เชื่อ และมีความกลัว

ดังนั้น เอชอาร์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสามารถสร้างสิ่งใหม่ให้องค์กรได้ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จคือคน หรือนวัตกร ซึ่งไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่จะสามารถเป็นนวัตกรได้ คนสูงอายุ หรือคนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นได้เช่นกัน

“เกม” กิจกรรมสร้างคน

“ประกาศิต ทิตาราม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิตาราม กรุ๊ป กล่าวว่า gamification กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของเอชอาร์ โดยเกมสามารถนำมาเพิ่มแรงจูงใจ จนทำให้คนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งยังให้ความร่วมมือมากขึ้น ซึ่งกลไกของเกมมิฟิเคชั่นมีหลายอย่าง

แต่ที่ใช้กันบ่อยมากมี 3 อย่างคือ หนึ่ง point ทำกิจกรรมแล้วได้แต้ม สอง badge โล่เกียรติยศหรือเหรียญตราจากการสะสมชั่วโมงครบ และสาม leader board กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันเบา ๆ

“มีงานวิจัยเมื่อปี 2563 พบว่า ภายในปี 2568 เกมมิฟิเคชั่นจะถูกประยุกต์ไปใช้งานกับทุกธุรกิจมากขึ้นถึง 337% ทั่วโลก ถ้าไม่นำไปปรับใช้ องค์กรอาจจะตกเทรนด์ นอกจากนั้น งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ ที่เริ่มนำเกมมิฟิเคชั่นไปใช้กับองค์กรพบว่า 85% ของพนักงานให้ความร่วมมือกับกิจกรรม และนโยบายต่าง ๆ จนทำให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากขึ้น

ยิ่งถ้ามีการใส่ gamify engine ต่าง ๆ เข้าไปด้วย จะทำให้ 54% ของพนักงานใหม่มีประสิทธิผลมากขึ้น หลังจากผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีกลไกของเกม นอกจากนั้น เกมยังช่วยลดอัตราการลาออก ถ้าพนักงานรู้สึกว่าทำงานกับบริษัทนี้แล้วสนุก มีความสุข การให้ความร่วมมือก็จะสูงขึ้น ทั้งยังช่วยเรื่อง up-skill อีกด้วย”

เทคโนโลยีขับเคลื่อนองค์กร

“ทัสพร จันทรี” กรรมการผู้จัดการ ทีเอเอสคอนซัลท์ติ้งพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้าง 3Ps คือ people (คน)-purpose (เป้าหมาย) และ profit (กำไร) องค์กรต้องเตรียมคนให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง หลายบริษัทจึงเริ่มทำ digital transformation

โดย 50% ของบริษัทเริ่มลงมือทำแล้ว ยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะเราอยู่ในยุคของ industry convergence (การบรรจบกันของอุตสาหกรรม) หรือสร้างธุรกิจใหม่จากการรวมตัวข้ามอุตสาหกรรม

“ถ้าจะเอา HR technology มาใช้ ต้องคิดว่ากำลังจะทำให้ช่องว่างคนในองค์กรกว้างขึ้นหรือเปล่า เพราะในองค์กรมีทั้งคนที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ดีกับคนที่ใช้เทคโนโลยีได้ไม่ดี จากความเชื่อว่าเทคโนโลยีทำให้ช่องว่างลดลง ก็อาจจะไม่ได้ผล

ดังนั้น องค์กรต้องกระตุ้นให้คนมีนวัตกรรม แต่นวัตกรรมที่ดีต้องทำให้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญ เอชอาร์ต้องหลุดจากบทบาทแอดมินไปเป็น business partner และต้องเข้าใจธุรกิจที่องค์กรอยู่”

เพราะรูปแบบการทำงานทุกวันนี้ต้องทำให้คนสามารถจัดการชีวิตได้ และจะต้องอยู่ในองค์กรที่มีความยั่งยืน โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ มีรูปแบบการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน แต่ทำอย่างไรให้เป้าหมายการทำงานของคนสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร สามารถเติบโตร่วมกันได้ มีความเท่าเทียมกันในองค์กร และให้อำนาจในการตัดสินใจ องค์กรจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้

แต่ทั้งนั้น จะต้องใช้เทคโนโลยีครอบคลุมทั้งหมด 3 ด้าน ด้วยกันคือ

หนึ่ง เทคโนโลยีต้องมีส่วนทำให้องค์กรมีอัตลักษณ์ ช่วยสร้างคุณค่า เป้าหมาย และ mindset ที่สอดคล้องกัน

สอง เทคโนโลยีต้องช่วยทำให้องค์กรเคลื่อนที่เร็วขึ้น ทำให้ talent เรียนรู้พัฒนาทักษะที่เป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และทำให้โครงสร้างการทำงานตอบรับกับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้

สาม เทคโนโลยีต้องทำให้คนในองค์กรสร้างนวัตกรรมเอง เพราะองค์กรเชื่อมโยงกับระบบนิเวศได้ ทั้งยังมีแพลตฟอร์มที่สามารถทดสอบทักษะของคนได้ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไหลลื่นไปกับการทำงาน

นับว่า HR TECH 2022 เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ และแรงขับเคลื่อนให้กับบรรดาชาวเอชอาร์ลุกขึ้นมา up level ของตัวเอง ด้วยการปลดล็อกศักยภาพของคนทำงาน เพื่อสร้างองค์กรเติบโตไปด้วยกัน